THE ATTENTION: ไทยติดโผ ‘ประเทศไม่เสรี’ ปี 2022 ปมเยาวชนร่วมชุมนุมถูกยิงดับ และศาลวินิจฉัย ‘เรียกร้องปฏิรูป = ล้มล้าง’

  • Year: 2022
  • Project: THE ATTENTION: ไทยติดโผ ‘ประเทศไม่เสรี’ ปี 2022 ปมเยาวชนร่วมชุมนุมถูกยิงดับ และศาลวินิจฉัย ‘เรียกร้องปฏิรูป = ล้มล้าง’
  • Business Unit: Content

【อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ】

องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพพลเมือง ‘Freedom House’ เผยรายงานสถานการณ์สิทธิเสรีภาพประจำปี 2022 ระบุว่า ‘ระบอบอำนาจนิยม’ ขยายตัวไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต, การจับกุมและปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในแต่ละประเทศ ขณะที่ ‘ไทย’ ติดกลุ่มประเทศ ‘ไม่เสรี’ ติดต่อกันเป็นปีที่ 10 โดยฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่สำคัญในปี 2021 คือ เยาวชนที่ร่วมชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สถูกยิงบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งยังมีการพิพากษาจำคุกกว่า 43 ปีแก่ ‘อัญชัญ’ อดีตข้าราชการที่ถูกดำเนินคดี ม.112 และศาลยังวินิจฉัยโดยสรุปว่าการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองเท่ากับ ‘ล้มล้าง’ สถาบัน

【สิทธิเสรีภาพถดถอยทั่วโลก มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สถานการณ์ดีขึ้น】

รายงานประจำปี 2022 ของ Freedom House องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 ชี้ว่า 65 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกเจอกับสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยถดถอย ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง รวมถึงประเทศไทยที่คะแนนรวมด้านสิทธิและเสรีภาพลดลงจาก 30 คะแนนในปีที่แล้ว เหลือ 29 คะแนน จากคะแนนเต็มทั้งหมด 100 คะแนน

ส่วนประเทศที่มีคะแนนถดถอยมากที่สุด 17 อันดับ ประกอบด้วย เมียนมา อัฟกานิสถาน นิคารากัว ซูดาน ตูนิเซีย เบนิน สโลวีเนีย เอลซัลวาดอร์ กินี เฮติ เบลารุส คองโก เซเนกัล ฮอนดูรัส ไนเจอร์ เอกวาดอร์ โกตดิวัวร์

กรณีของ ‘เมียนมา’ และ ‘อัฟกานิสถาน’ เกิดความถดถอยอย่างเห็นได้ชัดที่สุด เพราะทั้งสองประเทศเกิดการรัฐประหารและการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน โดยกรณีของเมียนมามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ขณะที่กองกำลังตอลิบานในอัฟกานิสถานสู้รบหลายพื้นที่และค่อยๆ บุกยึดอำนาจจากรัฐบาลกลางในกรุงคาบูลได้อย่างเบ็ดเสร็จในเดือนสิงหาคม หลังจากที่กองทัพสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรทยอยถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เพื่อยุติปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่กินเวลายาวนานกว่า 20 ปี

ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพในเมียนมาตกอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะรัฐบาลทหารใช้กำลังอาวุธและความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ทั้งยังมีการบังคับใช้กฎหมายจับกุมและเอาผิดนักการเมืองจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ซึ่งเป็นอดีตพรรครัฐบาลภายใต้การนำของ ‘อองซาน ซูจี’ ผู้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ ปี 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองและหนีภัยการปราบปรามเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวหาและดำเนินคดีอองซาน ซูจี ในหลายกรณี รวมถึงการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 แม้ว่าองค์กรสังเกตการณ์ระหว่างประเทศจะยืนยันว่าการเลือกตั้งในปีดังกล่าวดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเสรี และแม้ว่ารัฐบาลของซูจีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเหมือนกันว่าปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในระหว่างดำรงตำแหน่ง จนมีเสียงเรียกร้องให้ถอดรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่สถาบันโนเบลก็ไม่ได้ดำเนินการเรียกคืนรางวัล อีกทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งก็ระบุว่านี่ไม่ใช่เหตุผลอันชอบธรรมให้รัฐบาลทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี

ด้วยเหตุนี้ เมียนมาและอีก 16 ประเทศจึงติดอยู่ในกลุ่ม 60 กว่าประเทศที่สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ในสภาวะที่น่ากังวล และมีเพียง 25 ประเทศเท่านั้นที่มีสถานการณ์ในด้านนี้ดีขึ้น ส่วนประเทศที่เหลือติดกลุ่ม ‘ไม่มีเสรีภาพ’ และ ‘มีเสรีภาพในบางด้าน’

【ไทยติดท็อป 10 ประเทศที่คะแนนลดลงต่อเนื่องในรอบทศวรรษ】

กรณีของประเทศไทย มีคะแนนด้านสิทธิเสรีภาพตามเกณฑ์วัดผลของ Freedom House ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 10 โดยเนื้อหาในรายงานระบุว่าเป็นเพราะไทยมีการบังคับใช้กฎหมายที่ร้ายแรงและล้าหลังในการจับกุมและดำเนินคดีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันหลักของประเทศ โดยระบุถึงกรณี ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ อดีตข้าราชการหญิง ที่ถูกตัดสินจำคุกรวมกว่า 43 ปีจากการแชร์คลิปวิดีโอในยูทูบที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

กระบวนการยุติธรรมไทยยืนยันว่าการตัดสินคดีของอัญชัญเป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงรัฐบาลกลุ่มประเทศตะวันตก กลับมองว่าคดีนี้เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ล้าหลังเพื่อลงโทษประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างรุนแรง ทั้งยังอ้างถึงกรณีที่เยาวชนชายรายหนึ่งถูกยิงบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา อันเป็นผลจากการเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณสี่แยกดินแดงกับกลุ่มทะลุแก๊ส

นอกจากนี้รายงานของ Freedom House ยังระบุด้วยว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำวินิจฉัยว่าการอ่านแถลงการณ์และการเคลื่อนไหวเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรที่ยื่นข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริย์เท่ากับ ‘การล้มล้าง’ ถือเป็นการตีความที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน และเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในด้านนี้ของพลเมือง

ขณะที่คะแนนรวมด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ไทยติดอันดับ 7 จาก 30 ประเทศที่สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพถดถอยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในรอบ 10 ปี ทั้งยังเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 10 กลุ่ม ‘Countries in the spotlight’ หรือประเทศที่ต้องจับตามองในปี 2022 โดยประเทศที่ติดกลุ่มนี้นอกเหนือจากไทย ได้แก่ ชิลี อิหร่าน อิรัก เมียนมา นิคารากัว รัสเซีย สโลวีเนีย ซูดาน และแซมเบีย

อ้างอิง:

  • Freedom House. Freedom in the World 2022: The Global Expansion of the Authoritarian Rules. https://bit.ly/3sqoYNm
  • Freedom House. Thailand: Not Free. https://bit.ly/3M4s9lM
  • The Guardian. The student, the Penguin and the king: elite Thai university roiled by dissent. https://bit.ly/3BZGhs3

#ระบอบอำนาจนิยม #FreedomHouse #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow