THE ATTENTION: รัสเซียโจมตียูเครนเรียกว่าอะไร? ทำไมแฮชแท็กสงครามโลกครั้งที่ 3 ติดเทรนด์ ฟากจีนออกโรงเตือน ‘อย่าใช้กำลัง’

  • Project: THE ATTENTION: รัสเซียโจมตียูเครนเรียกว่าอะไร? ทำไมแฮชแท็กสงครามโลกครั้งที่ 3 ติดเทรนด์ ฟากจีนออกโรงเตือน ‘อย่าใช้กำลัง’
  • Business Unit: Content
【อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ】
ผู้นำรัสเซียสั่งเคลื่อนพลและอาวุธยุทโธปกรณ์บุกเข้าประเทศเพื่อนบ้าน ‘ยูเครน’ โดยบอกว่าจะไปช่วยรักษาสันติภาพให้ประชาชนในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ที่กำลังต่อสู้กับกองทัพยูเครน หลังจากสองแคว้นในภูมิภาคนี้ประกาศแบ่งแยกดินแดนไปได้ไม่นาน แต่ทูตยูเครนชี้ว่านี่คือการประกาศสงคราม และแฮชแท็กสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็พุ่งติดเทรนด์ในหลายประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง-ตลาดหุ้นปั่นป่วน เช่นเดียวกับคะแนนนิยมผู้นำรัสเซียที่พุ่งขึ้นคล้ายตอนที่รัสเซียบุกดินแดนไครเมียของยูเครนในปี 2014 ขณะที่ทูตจีนออกโรงเตือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ตึงเครียด ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ให้ยับยั้งชั่งใจ อย่าใช้กำลัง และร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ โดยผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าคนรัสเซียจำนวนไม่น้อยก็ไม่เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะก่อสงคราม
——————————————————-

 ‘สงคราม-การรุกราน-การรักษาสันติภาพ’ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรแน่?

ทูตยูเครนประจำสหประชาชาติแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ว่าการนำกำลังทหารบุกเข้าสมรภูมิดอนบาสของรัสเซีย คือ ‘การประกาศสงคราม’ (declare war) ต่อยูเครน และสื่อตะวันตกหลายสำนักก็รายงานว่ารัสเซียประกาศสงครามในยูเครน แต่ตัวแทนประเทศต่างๆ ที่ร่วมประชุม UNSC และประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติไม่ได้เรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนในฐานะ ‘สงคราม’ เช่นเดียวกับที่สื่ออีกหลายสำนักทางฝั่งตะวันตกก็ยังเลือกรายงานการเคลื่อนกำลังพลด้วยคำเดียวกับรัฐบาลรัสเซียคือ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (special military operation) และสื่อบางแห่งใช้คำว่า ‘การรุกราน’ (invasion) แทนการใช้คำว่าสงครามเต็มรูปแบบ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เหตุผลหนึ่งที่อ้างได้จากพจนานุกรมศัพท์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดย นอ.รส.ทองใบ ธีรนันทางกูร เป็นเพราะว่าการประกาศสงครามจะต้องมีคำประกาศอย่างเป็นทางการโดยชาติใดชาติหนึ่งเพื่อแสดงว่า ‘สถานะทางกฎหมายของการสู้รบระหว่างประเทศ’ ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ รัสเซียได้เลี่ยงไปใช้คำว่าปฏิบัติการพิเศษทางทหารแทน และยูเครนก็อยู่ในสภาพ ‘ตั้งรับ’
นอกจากนี้ วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียก็ยังอ้างว่าภารกิจในครั้งนี้คือการ ‘รักษาสันติภาพ’ หรือ peace keeping ในแคว้นโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน โดยอ้างว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของยูเครน แต่รัฐบาลยูเครนไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ทั้งยังใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพจนเกิดเหตุนองเลือด และ RT สื่อในความควบคุมของรัฐบาลรัสเซียก็รายงานว่า ประธานาธิบดีปูตินไม่มีแผนการจะบุกยึดครองยูเครนทั่วทั้งประเทศ แต่มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยประชาชนในพื้นที่ดอนบาสจากการใช้อำนาจทหารกดขี่โดยรัฐบาลยูเครนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การนำกำลังทหารเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการหรือไม่ ก็มีผลให้เกิดการสู้รบด้วยอาวุธสงคราม และจะต้องมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บอย่างแน่นอน ส่งผลให้ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการรุกราน เพราะเกิดเหตุระเบิดโจมตีและมีเสียงอาวุธปืนดังขึ้นในหลายๆ เมือง รวมถึงกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศ โดยเซเลนสกีบอกกับประชาชนให้อยู่ในความสงบและมั่นใจว่า ‘ยูเครนจะชนะ’ ในที่สุด
ขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมถึงกองกำลังนาโต (NATO) หนึ่งในคู่ขัดแย้งของรัสเซียที่เกี่ยวพันกับยูเครน ออกแถลงการณ์ประณามปูติน ทั้งยังระบุว่าจะพิจารณามาตรการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้การกระทำของรัสเซียที่ขัดต่อหลักการระหว่างประเทศและส่งผลคุกคามความมั่นคง แต่รัสเซียเคยประณามสหรัฐฯ และนาโตก่อนหน้านี้แล้ว ในฐานะผู้หนุนหลังรัฐบาลยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกนาโต โดยรัสเซียมองว่านาโตพยายามจะเข้ามามีบทบาทในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เพื่อคัดง้างกับรัสเซีย เพราะยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต และประชาชนยูเครนจำนวนไม่น้อยก็อยากอยู่กับรัสเซียมากกว่า ท่าทีของสหรัฐฯ และนาโตจึงเข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายในภูมิภาค

สงครามโลกครั้งที่ 3 กลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมในสื่อโซเชียล

เว็บไซต์ด้านธุรกิจการเงิน Money Control รายงานว่าปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นและตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศปั่นป่วน และแฮชแท็ก ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ ในภาษาอังกฤษ ทั้ง #WorldWarIII และ #WorldWar3 กลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์หลายพื้นที่ทั่วโลก โดยคนส่วนใหญ่เกรงว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิมหลังจากนานาประเทศต้องเจอกับโรคโควิด-19 ต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปีจนประสบภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ยังต้องมาเจอกับความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 อีก
เว็บไซต์ Task&Purpose สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่าผู้ใช้สื่อโซเชียลในประเทศ ที่ส่วนใหญ่อายุราว 18-27 ปี มองว่าถ้าหากเกิดสงครามโลกขึ้นจริง สิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดมากที่สุดคือการที่พวกเขาจะต้องถูกเกณฑ์ไปรบ ขณะที่ผลสำรวจด้านสุขภาพของประชาชนในปี 2017 พบว่าหนุ่มสาวอเมริกันที่อยู่ในกลุ่มเจนซี (อายุระหว่าง 17-24ปี) ราว 71 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีคุณสมบัติที่จะเกณฑ์ทหาร โดยมักจะมีปัญหาน้ำหนักเกิน, รูปร่างไม่สมส่วน และมีข้อจำกัดทางสุขภาพอื่นๆ ที่ไม่ตรงตามเกณฑ์
ด้าน อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องไปยังผู้นำรัสเซียโดยตรง โดยระบุผ่านที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน ‘ในนามแห่งมนุษยธรรม’ และย้ำว่าทั่วโลกจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามครั้งร้ายแรงที่สุดในยุโรป’ เพราะผลพวงที่ตามมาไม่ใช่แค่ยูเครนและรัสเซียเพียงอย่างเดียวที่จะเผชิญกับความยากลำบาก แต่เรื่องนี้จะส่งผลกระทบที่ ‘ไม่อาจประเมินได้’ ต่อระบบเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ จาง เจิ้น ทูตจีนประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุม UNGA ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน จะต้องระงับยับยั้งการใช้กำลังยั่วยุที่จะส่งผลให้เกิดการความรุนแรงในภูมิภาค และเชื่อว่าแต่ละฝ่ายจะหาทางออกร่วมกันโดยสันติได้ ส่วนฮัวชุนอิ๋งแห่งกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่าการที่สหรัฐฯ พร้อมด้วยประเทศพันธมิตรและสมาชิกนาโต ประกาศว่าจะคว่ำบาตรรัสเซียกรณียูเครน ไม่ได้เป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจีนคัดค้านการคว่ำบาตรที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม UN
นอกจากนี้ เอริก บิวราคอฟสกี รองผู้อำนวยการโครงการรัสเซีย-ยูเรเชียแห่งโรงเรียนกฎหมายเฟลตเชอร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยทัฟส์ของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ The Conversation ระบุว่าการนำกำลังทหารรัสเซียเข้าไปกดดันประชิดชายแดนยูเครนในช่วงที่ผ่านมา มีผลให้ความนิยมในตัวประธานาธิบดีปูตินพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนที่ปูตินสั่งทหารรัสเซียบุกดินแดนไครเมียของยูเครนเมื่อปี 2014 และประกาศรับรองการลงประชามติแบ่งแยกดินแดนไครเมียที่รัฐบาลกลางยูเครนไม่ยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้
บทความของบิวราคอฟสกีมองว่าการก่อสงครามในต่างแดนเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจทางการเมืองในประเทศ รวมถึงการเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนด้วยการทำสงคราม เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัสเซีย โดยเฉพาะยุคของปูตินที่เผชิญกับเสียงต่อต้านจากประชาชนในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากยึดครองเก้าอี้ผู้นำมานานนับทศวรรษ แต่เขาเชื่อว่าสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนจะไม่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะประเทศอื่นๆ คงไม่เข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่สถานการณ์หลายด้านอยู่ในภาวะย่ำแย่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและโรคระบาด เช่นเดียวกับที่ชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยก็เคยตอบแบบสอบถามว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการทำสงคราม แต่การสู้รบที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรุนแรงเช่นกัน
อ้างอิง:
  • Aljazeera. Russia-Ukraine live news: Moscow launches ‘full-scale invasion’. https://bit.ly/3pcrmFr
  • The Conversation. Putin’s public approval is soaring during the Russia-Ukraine crisis, but it’s unlikely to last. https://bit.ly/3vegECq
  • First Post. China urges all parties involved in the issue to exercise restraint. https://bit.ly/3JRg0P4
  • Money Control. Russia-Ukraine crisis: Why is World War 3 trending on Twitter?. https://bit.ly/3vdyntJ
  • The New York Times. Oil jumps above $100 a barrel and Asian stocks fall after invasion. https://nyti.ms/358RgTI
  • PBS. Ukrainian ambassador to the U.N. says Putin has ‘declared war’ on Ukraine. https://to.pbs.org/3ve50Y7
  • Task&Purpose. Generation Z has a simple message when it comes to World War III: Please don’t draft me. https://bit.ly/33P3dxq
  • RT. Russia has ‘no plans’ to take over whole of Ukraine – Putin. https://bit.ly/3BKbLSC
  • USA Today. Russia declares war, launches attack in Ukraine; explosions reported – live updates. https://bit.ly/3IjvF9x