ทำไมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจ ‘เบี้ยวหนี้’ และอาจป่วนเศรษฐกิจไปทั้งโลก

- Year: 2023
- Project: ทำไมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจ ‘เบี้ยวหนี้’ และอาจป่วนเศรษฐกิจไปทั้งโลก
- Business Unit: Content
ถ้าในสิ้นเดือนนี้รัฐบาลกลางอเมริกาไม่ขยายเพดานหนี้สาธารณะ เท่ากับอเมริกาก็อาจ ‘ผิดนัดชำระหนี้’ และนั่นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งโลก และระดับเลวร้ายคืออาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
เราจะอธิบายให้ฟังเป็นข้อๆ
อย่างแรก เพดานหนี้สาธารณะคืออะไร? รัฐสมัยใหม่โดยมากจะบริหารประเทศแบบ ‘เป็นหนี้’ หรือมีการใช้งบประมาณมากกว่าภาษีที่เก็บได้ ซึ่งเงินส่วนที่ขาดไปถือว่ารัฐบาลเพิ่มเองไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจ (อำนาจนั้นอยู่ที่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่อยู่ใต้อำนาจรัฐบาล) และการทำแบบนั้นเสี่ยงที่เงินจะเฟ้อจนเศรษฐกิจพัง ดังนั้นเวลารัฐเงินไม่พอ รัฐก็จะต้องออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งก็คือการ ‘ขอกู้เงิน’ จากพวกนักลงทุนเชิงสถาบันรายใหญ่ๆ (ไปจนถึงธนาคารกลาง) นั่นเอง หรือคนจะซื้อก็เอาเงินสดมาให้รัฐบาล รัฐบาลก็จะสัญญาว่าจะคืนเงินต้นให้ตามกำหนดเวลา และระหว่างนั้นก็จะให้ดอกเบี้ยด้วย
นี่คือเศรษฐศาสตร์การคลังพื้นฐาน
ทีนี้ ถ้ามันไม่มีกำหนดเพดานหนี้สาธารณะ รัฐบาลที่บริหารประเทศก็จะสร้างหนี้ไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปเขาก็เลยจะมีกติกากำหนดกันทุกประเทศว่า ทางสภาจะมีหน้าที่กำหนดเพดานหนี้ว่ารัฐจะไปก่อหนี้ได้แค่ไหน ซึ่งจะขยายเมื่อไรก็คุยกันในสภา
ซึ่งสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเจอขณะนี้คือ รัฐบาลเงินหมดแล้ว และก่อหนี้ถึงเพดานหนี้เรียบร้อย มัน ‘จำเป็น’ ต้องขยายเพดานหนี้เพื่อให้รัฐบาลมีเงินใช้ต่อ แต่ทางสภาล่างตอนนี้คุมโดย ส.ส. ฝั่งพรรครีพับลิกัน ซึ่ง ส.ส. เหล่านี้ไม่แฮปปี้กับนโยบายของ โจ ไบเดน ที่ใช้เงินภาครัฐแบบมือเติบมากๆ จากโครงการสาธารณะจำนวนมากที่เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด และยื่นข้อเสนอว่า จะโหวตขยายเพดานหนี้ให้ก็ได้ แต่รัฐบาลกลางก็ต้องทำการ ‘รัดเข็มขัดทางการเงิน’ หรือทำการ ‘ตัดงบประมาณ’ ต่างๆ ด้วย
ซึ่งแน่นอน ไบเดนไม่ยอม และปัญหามันก็เลยค้างคาอยู่จนถึงตอนนี้ที่เงินรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะหมดจริงๆ ตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม 2023
ซึ่งถามว่านี่เป็นเรื่องปกติไหม? คำตอบคือไม่เชิง อเมริกาเป็นประเทศที่ขยายเพดานหนี้สาธารณะมาเป็นจะร้อยครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ และในศตวรรษที่ 21 เองนี่คือขยายมาเป็น 20 ครั้งแล้ว ดังนั้นการขยายเพดานไม่ใช่เรื่องแปลก
ซึ่งก็เช่นกัน การขยายเพดานหนี้เป็นประเด็นทางการเมืองเสมอถ้าพรรคที่คุมสภาล่างและวุฒิสภานั้นเป็นคนละพรรคกับพรรคของประธานาธิบดี ซึ่งตัว โจ ไบเดน เองสมัยเป็นวุฒิสมาชิก ก็เคยโหวตให้การขยายเพดานหนี้สมัยจอร์จ บุช เป็นประธานาธิบดี ไม่ผ่านมาแล้ว
แล้วคราวนี้มันต่างยังไง? ประการแรก ปกติเขาจะขยายเพดานหนี้กันเผื่อๆ ก่อนรัฐจะ ‘หมดเงิน’ ซึ่งบางทีเขาก็จะขยายกันตอนที่พรรคใดพรรคหนึ่งคุมทั้งสองสภาและเป็นประธานาธิบดี เพราะมันจะง่าย แต่ทีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด รัฐต้องใช้เงินเยอะมาก และมันไม่มีจังหวะเนียนๆ ที่ประธานาธิบดีกับสมาชิกส่วนใหญ่ในสภามาจากพรรคเดียวกัน มันเลยไม่ได้ขยายเพดานหนี้ซะที ก็เลยคาราคาซังมาจนรัฐเงินจะหมดในสิ้นเดือนนี้
และถามว่าถ้ารัฐ ‘เงินหมด’ จริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อเงินหมด คือรัฐก็จะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เงินประกันสังคมทั้งหมด เงินจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ รวมถึง ‘ดอกเบี้ย’ กับผู้ที่ให้กู้เงินทั้งหมด
มีการประเมินว่าถ้าถึงจุดที่ ‘จ่ายไม่ได้’ จริงเพียงพริบตาเดียว คนตกงานในอเมริกาอาจมากถึง 500,000 คน ดังนั้นนี่จึงเป็นหายนะมากๆ
แต่ผลของการที่ถ้าภาวะนี้ลากยาว หายนะอาจระดับโลก เพราะการที่อเมริกา ‘เบี้ยวหนี้’ มันจะทำให้มูลค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงอย่างรวดเร็ว (เพราะคนจะไม่ต้องการให้อเมริกากู้เงิน และเงินจะไหลออกจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ) ซึ่งนั่นหมายถึงทุกอย่างที่มูลค่าอิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นจะแพงขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือน้ำมัน
พูดง่ายๆ น้ำมันจะแพงขึ้น ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นพร้อมกันทั้งโลก และนั่นอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อโลกเกิดขึ้นอีกรอบ คล้ายๆ ช่วงโควิดและช่วงสงครามยูเครนช่วงแรกๆ ซึ่งถ้าเรายังจำได้ ราคาสินค้าต่างๆ ที่มันขยับแพงขึ้นจากช่วงโควิดและตอนนี้ยังไม่ลง ก็เกิดจากเงินเฟ้อที่ว่านี่แหละ
นี่คือเหตุผลว่าถ้าอเมริกา เบี้ยวหนี้มันจะส่งผลลูกโซ่จนเงินเฟ้อทั้งโลกได้อย่างไร ซึ่งตอนนี้ถ้าเงินเฟ้อทั่วโลกอีกรอบ เศรษฐกิจก็เตรียมซบเซาได้เลย คือมันจะไม่ฟื้นโดยเร็ว ของจะแพงขึ้นและคนจะใช้เงินน้อยลงอีก เศรษฐกิจก็จะกลับไปเป็นแบบช่วงโควิดและคนทำมาค้าขายก็น่าจะพอเข้าใจว่าภาวะแบบนี้มันหายนะขนาดไหน
ทีนี้มันอาจเป็นอย่างที่ว่าก็ได้หรือเปล่า? คือถ้าโจ ไบเดน ยอมตัดงบประมาณก็จบ เพดานหนี้ก็ขยาย รัฐก็มีเงินใช้
ส่วนถ้าไม่ยอมตัดงบประมาณ จริงๆ มันมีพวกนักกฎหมายพยายามหาทางออกให้สารพัด ตั้งแต่อ้างรัฐธรรมนูญมาตราแปลกๆ เพื่อความชอบธรรม ไปจนถึงให้รัฐกู้เงินเพิ่มเลยโดยไม่สนเพดานหนี้เพราะจริงๆ ถ้าทำไปมันก็ไม่มีใครฟ้องใครได้
แต่ทั้งหมดนี้มันคือการฉีกประเพณีทางการเมือง และนั่นคือสร้างความเสี่ยงทางการเมืองสุดๆ เพราะมันคือการทำ ‘ผิดกติกา’ แบบดื้อๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน อันนี้อยากให้คิดง่ายๆ ว่าถ้าคนไปบอกให้อเมริกาทำรัฐประหาร เขาก็จะงง เพราะสิ่งนี้ไม่ได้อยู่ในประเพณีทางการเมืองของเขา มันผิดธรรมเนียมแบบร้ายแรง มันเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่าในทางปฏิบัติกองทัพอเมริกันจะก่อรัฐประหารมันก็ทำได้ เช่นกัน คือการบอกให้รัฐบาลกู้เงินไปดื้อๆ โดยไม่สนใจเพดานหนี้ ในทางปฏิบัติมันก็ทำได้เช่นกัน แต่มันเป็นการทำลายประเพณีทางการเมืองที่มีมา
ดังนั้น การเมืองอเมริกาตอนนี้แม้ดูเงียบๆ แต่คลื่นใต้น้ำมันหนักมาก และการเคลื่อนไหวที่ผิด มันก็อาจสร้างความสะเทือนไปทั้งโลกอย่างที่ว่ามา
อ้างอิง
- Vox. 9 questions about the debt ceiling, answered. https://bit.ly/421Qb7O
- DW. US debt ceiling: How default could affect you. https://bit.ly/43qkHJD