ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไทย 75.2% เป็นตัวเลขที่มากหรือน้อย?

  • Year: 2023
  • Project: ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไทย 75.2% เป็นตัวเลขที่มากหรือน้อย?
  • Business Unit: Content

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2023 เป็นก้าวใหม่ของการเมืองไทยพอสมควร เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองขึ้น (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด)

แต่ก่อนจะไปพูดถึงการเมืองที่เปลี่ยนไป เราอยากชวนกลับมาดูตัวเลขที่น่าสนใจก่อน ก็คือตัวเลขของผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งคิดเป็น 75.2 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด และ กกต. ก็อ้างว่านี่คือตัวเลขที่มากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย

 

คำถามคือมันจริงหรือ?

อยากให้เราย้อนกลับไปดูตัวเลขก่อน ว่ากันตรงๆ ไทยเพิ่งจะมีแนวคิดเรื่อง ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ มาไม่นาน เพราะในยุคก่อนหน้านั้น ถึงจะมีการเลือกตั้งบ้าง อัตราส่วนผู้ใช้สิทธิ์ก็มักจะไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ แต่พอมาในทศวรรษ 1980 การเมืองไทยเข้าสู่ระบอบรัฐสภาเต็มที่ จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ และเป็นแบบนี้มาตลอด จนในช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อัตราส่วนผู้ใช้สิทธิ์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งในปี 2005 หรือปีที่ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

หลังจากนั้นไทยก็เริ่มเข้าสู่วังวนของรัฐประหาร ซึ่งความน่าสนใจก็คือ การเลือกตั้งทั่วไปหลังรัฐประหารทุกครั้ง ผู้ใช้สิทธิ์จะเพิ่มขึ้น แต่เหมือน ‘เพดาน’ จะอยู่ที่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ เช่น เลือกตั้งในปี 2007 หลังเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2006 ‘สมัคร สุนทรเวช’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อัตราผู้มาใช้สิทธิ์ก็อยู่ที่ 74.5 เปอร์เซ็นต์

หรือเลือกตั้งในปี 2011 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนที่ประกาศตัวเป็นพรรคของทักษิณ ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับโหวตจาก ส.ส. พรรคอื่นขึ้นเป็นนายกฯ แทน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง จนมีการใช้อาวุธจริงสลายการชุมนุมในปี 2010 ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ ‘น้องทักษิณ’ ลงสนามการเมืองและได้เป็นนายกรัฐมนตรี อัตราผู้มาใช้สิทธิ์ครั้งนั้นก็อยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ และเลือกตั้งในปี 2019 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2014 อัตราผู้มาใช้สิทธิ์ก็ลงมานิดหน่อยอยู่ที่ 74.7 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะขึ้นมาเป็น 75.2 เปอร์เซ็นต์ ในครั้งล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 8 ปีถ้ามองในแง่นี้เราก็จะพบว่าถึงการเลือกตั้งรอบล่าสุดจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ถึงขั้นที่ถูกเคลมว่า ‘ทำลายสถิติ’ แต่จริงๆ ก็ยังไม่ถือว่าทำลายสถิติอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะอัตราส่วนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในไทยก็อยู่ในระดับนี้มาประมาณ 15 ปีแล้ว

แต่ถ้าถามว่าตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์จำนวนเท่านี้เรียกว่าเยอะไหม? หรือน่าพอใจไหม? ก็อาจจะต้องเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยอย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาเทียบ เราต้องเทียบกับประเทศที่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าการไม่ไปเลือกตั้งมีความผิด (มาตรฐานคือจะให้คนอธิบายเหตุผลที่ตัวเองไม่ไปเลือกตั้ง ถ้าเหตุผลไม่ดีคือจะมีโทษปรับ) เพราะประเทศพวกนี้ทั่วๆ ไปคนจะไปเลือกตั้งเยอะกว่าประเทศที่ไม่มีโทษกำกับชัดเจน ซึ่งในประเทศพวกนี้ คนจะไปเลือกตั้งโดยเฉลี่ยเกิน 90 เปอร์เซ็นต์เลย และประเทศที่เด่นๆ ก็เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

เมื่อเทียบกับ 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในไทย เทียบกับหลายประเทศก็ถือว่าเยอะอยู่ คือเป็นระดับเดียวกับเดนมาร์ก เกาหลีใต้ เยอรมนี ไอซ์แลนด์ แต่จริงๆ ประเทศที่ไม่ได้มีการเอาผิดกับคนไม่ไปเลือกตั้งแล้วมีจำนวนคนออกไปใช้สิทธ์เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ก็มี เช่น สวีเดน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ถ้าเทียบกับประเทศกลุ่มที่ว่ามา ตัวเลข 75 เปอร์เซ็นต์ของไทยอาจฟังดูน้อย แต่ในทางกลับกัน ประเทศอย่างอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน หรือกระทั่งนอร์เวย์ ก็จะบ่นกันมากว่าประเทศตนมีคนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันแค่ 70 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ซึ่งเขาก็มองว่าน้อยเกินไป และตัวเลขพวกนี้อาจใกล้เคียงกับไทยก็จริง แต่ตัวเลขสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ของประเทศเหล่านี้เคยสูงกว่านี้มากๆ ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์กันทั้งนั้น แต่ลดลงมาเรื่อยๆ ในยุคหลัง ซึ่งว่ากันว่าภาวะพวกนี้เป็นตัวสะท้อนว่าคน ‘เบื่อการเมือง’

ประเทศที่มีภาวะแบบนี้หนักมากๆ คือ ‘ญี่ปุ่น’ ที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีคนออกไปใช้สิทธิ์แค่ 56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าลดลงมาเรื่อยๆ จนเริ่มมีการทำวิจัยจริงจังแล้วว่าทำไมคนถึงไม่ยอมไปเลือกตั้ง

ซึ่งมองอย่างเปรียบเทียบกับประเทศเหล่านี้ ตัวเลข 75 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ออกไปเลือกตั้งนี่เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเกลียดเลย และก็น่าดีใจที่เรารักษาระดับการมีส่วนรวมทางการเมืองไว้ได้สม่ำเสมอในระดับนี้มาเป็นสิบปีแล้วดังที่ว่ามา

สุดท้าย อัตราส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ ‘น้อย’ ก็อาจจะไม่ได้เป็นภาพสะท้อนว่า ‘การเมืองไม่ดี’ เสมอไป และตัวอย่างของประเทศที่คนออกไปเลือกตั้งน้อย แต่ก็ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการเมืองดีมาก คือ สวิตเซอร์แลนด์ เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จะถือว่าการเลือกผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องเล็ก เพราะผู้แทนมีหน้าที่ออกกฎหมายและนโยบายตามประชามติ ซึ่งปีหนึ่งมีการจัดทำประชามติกันเฉลี่ย 3-4 รอบ และทำให้ประเทศนี้น่าจะเป็นประเทศที่มีการทำประชามติบ่อยสุดในโลก แต่พอต้องออกไป ‘ลงคะแนน’ ประชามติบ่อย คนก็เหนื่อย และทำให้โดยเฉลี่ยคนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติกันประมาณ 49 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่นี่ก็ยังเยอะกว่าคนที่ออกไปเลือกตั้งผู้แทนรอบล่าสุด ที่คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น

ถ้ามองในแง่นี้จะแปลว่าคนสวิสเฉื่อยชากับการเมืองได้หรือไม่? ก็มีคำอธิบายว่า ‘ไ่ม่เชิง’ เพราะคนส่วนใหญ่จะออกแนว ‘ยังไงก็ได้’ กับพวกประชามติที่จัดทำกันบ่อย ทั้งยังทำในเรื่องที่ยิบย่อย ดังนั้นคนสวิสส่วนใหญ่ก็จะไม่ออกไปลงคะแนนกันมากนัก เพราะการจัดทำประชามติมันค่อนข้างจะถี่เกิน แต่ถ้าเป็นเรื่องซีเรียสจริงๆ คนก็อาจจะออกไปทำประชามติกันถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว (กรณีแบบนี้ก็เช่น ประชามติเรื่องการเข้าร่วมเศรษฐกิจยุโรป หรือการเนรเทศอาชญากรข้ามชาติ เป็นต้น)

ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ถูกมองว่าเป็นชาติที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ ในทางตรงกันข้าม คนมักจะมองกันว่าระบบการเมืองสวิสมันดีจนคนมั่นใจว่ารัฐจะสามารถดำเนินการไปด้วยตัวเองได้ ถ้ารัฐมีปัญหาเมื่อไรก็เข้าชื่อทำประชามติเอา และยังไงก็จะได้ลงประชามติภายในไม่กี่เดือน ผลออกมาเป็นยังไงพวก ส.ส. ก็ต้องทำตาม

และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า ‘ระบบที่ดีมากๆ’ ก็อาจทำให้คนขี้เกียจไปเลือกตั้งได้เหมือนกัน

อ้างอิง

  • Today. กกต.แถลงเลือกตั้ง 66 คนออกมาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ยืนยันผล ‘ก้าวไกล’ ชนะอันดับ 1. https://bit.ly/3Mr9AsX
  • Pew Research Center. Turnout in U.S. has soared in recent elections but by some measures still trails that of many other countries. https://pewrsr.ch/43AcToT
  • World Population Review. Voter Turnout by Country 2023. https://bit.ly/3q3XE9a
  • IDEA. COMPULSORY VOTING. https://bit.ly/2H42wCv
  • Swissinfo.ch. Should we worry about low voter turnouts in Switzerland. https://bit.ly/3MPGFAp