ไม่ใช่แค่หมูแพง แต่ ‘อาหาร’ อื่นๆ ก็แพง

- Year: 2022
- Project: ไม่ใช่แค่หมูแพง แต่ ‘อาหาร’ อื่นๆ ก็แพง
- Business Unit: Content
โลกนี้กำลังมีภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ นี่คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จนถึงนักการเงินในโลกพูดกันมาตั้งแต่ปี 2021 แต่คนทั่วๆ ไปก็ดูจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ตราบเท่าที่สิ่งของที่เขาซื้อทุกวันราคามันไม่ขึ้น สิ่งที่เรียกๆ กันว่า ‘เงินเฟ้อ’ ก็ดูจะไม่มีอยู่จริง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ‘คนทั่วไป’ จะตระหนักกันว่า ‘เงินเฟ้อ’ มันมีจริงๆ ก็ตอนที่อาหารการกินราคาขึ้นนี่แหละ เพราะสุดท้ายมันลุกลามระดับสารพัดร้านบุฟเฟต์ในบ้านเราพร้อมใจกันขึ้นราคา มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ทำอาหารเองก็เริ่มตระหนักว่า ทั้งหมดนี้มันคือของจริงแล้ว
ทีนี้แล้วอาหารการกินราคาขึ้นจริงๆ หรือ? ทำไมไปถามบางคนเขาบอกไม่ขึ้น? แล้วทำไมบางร้านไม่ขึ้นราคา? อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าราคาสินค้าเกษตรมันมีหลากหลายและมันแกว่งไปมาตลอดตามประสาสินค้าเกษตร ซึ่งปกติพวก ‘พ่อค้าคนกลาง’ ก็จะรับความเสี่ยงตรงนี้เอาไว้ และตรึงราคาสำหรับผู้บริโภคให้ค่อนข้างคงที่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมราคาอาหารตามร้านมันถึงจานละ 40 บาท หรือ 200 บาท ได้เท่าเดิม แม้ว่าราคาวัตถุดิบต่างๆ จะขึ้นลงตลอด
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็ค่อนข้างชัดแล้วว่าร้านอาหารหลายๆ เจ้า ตั้งแต่ร้านตามสั่งเล็กๆ ยันบุฟเฟต์พรีเมียมก็พร้อมใจกันขึ้นราคา ดังนั้นมันมีเหตุมาจากวัตถุดิบราคาขึ้นแน่ๆ ว่าแต่อะไรมันราคาขึ้นล่ะ?
สิ่งที่เราอยากแสดงให้ดูก็คือ ถ้าไปดู ‘ราคาส่ง’ จากแหล่งใหญ่ๆ แล้ว มันมีหลายอย่างราคาขึ้นจริงๆ ในรอบ 70 วันที่ผ่านมา และเราต้องดูในระยะนี้ เพราะหลายอย่างจริงๆ ราคาขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 แล้ว
การขึ้นทั้งแถบแบบนิดๆ หน่อยๆ พวกผู้ประกอบการก็ยังกัดฟันทนไหว จนหมูมาขึ้นราคาพรวดนี่แหละที่เหมือนเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ทำให้ทุกฝ่ายตัดสินใจขึ้นราคาอาหารอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งก็ตามประสา มีคนเปิด ก็มีคนตาม และนี่ก็คงจะเป็นปรากฏการณ์แบบที่เราจะเห็นไม่กี่ครั้งในชีวิต (ซึ่งก็อย่าเห็นบ่อยเลย)
ดังที่เล่ามา จริงๆ มันไม่ใช่แค่ ‘หมูขึ้นราคา’ หมูขึ้นราคาคือ ‘ปลายเหตุ’ ซึ่งแน่นอนการปกปิดเรื่องโรคระบาดของรัฐใดๆ มันเป็นเรื่องเลวร้ายแน่นอน แต่นี่เป็นภาพเล็กมากในภาพใหญ่ของปรากฏการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก
แล้วมันเกิดจากอะไร?
ต้องเข้าใจก่อนว่าตลอดปี 2021 ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าต้นปีน้ำมันเบนซินลิตรละ 32 บาท แต่ปลายปีลิตรละเกือบ 40 บาท ดังนั้นมันทำให้ปัจจัยต้นทุนค่าขนส่งทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นหมด ดังนั้นนี่จึงเป็นภูมิหลังใหญ่ๆ ของภาวะเงินเฟ้อในปีที่แล้ว แต่ถ้าเป็นพวกราคาอาหารที่ทะยานขนาดนี้มันต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม
คำอธิบายหลักมันอยู่ที่ตอนหน้าฝนปี 2021 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้งจีนและอินเดีย ทำให้พืชผักเสียหายจำนวนมาก และสองประเทศนี้คือประเทศที่มีบทบาทในการผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ดังนั้นคือทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรหายไปจากระบบเยอะมาก และทำให้ราคาขึ้นในเวลาต่อมา ถ้าเราพอจะจำได้ในช่วงนั้นมันจะมีข่าว ‘ผักชีแพง’ นั่นแหละเป็นผลของปรากฏการณ์ที่ว่า
แน่นอน เมื่อหน้าฝนจบไป พืชผักก็ราคาค่อนข้างจะปกติขึ้น แต่สิ่งที่ยังหลงเหลือที่รอวันระเบิดคือปัญหา ‘อาหารสัตว์แพง’ คือจะเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้าง ‘เนื้อสัตว์’ มันต้องใช้พืช ซึ่งพื้นฐานของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปัจจุบันมันจะใช้ข้าวโพดเสียเยอะ
อยากให้ลองนึกภาพว่าพวก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ พวกนี้ก็เสียหายไปมหาศาลตอนหน้าฝน ทำให้ราคามันขึ้น พอข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือสัตว์ที่เลี้ยงในช่วงปลายปี 2021 ก็มีต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น นี่เลยเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์แพงตามมา ซึ่งในแง่นี้ ถึงจะไม่มี ‘โรคอหิวาต์หมูแอฟริกา’ ราคาหมูก็คงจะขึ้นอยู่ดี (แค่ไม่ถึงขนาดนี้)
ถ้าอยากดูหลักฐานเบื้องต้นว่า ‘ต้นทุนเลี้ยงสัตว์’ นั้นโหดแค่ไหน ก็อยากให้ไปดูต้นทุนเมล็ดข้าวโพดที่ในช่วงเดียวกันราคาขึ้นมากกว่าเนื้อหมูสามชั้นเสียอีก นี่แหละเป็นที่มาว่าทำไมพวกเนื้อสัตว์มันขึ้นราคาขึ้นกันเป็นแถบๆ
ทั้งหมดนี้เราก็เล่าแค่หายนะของราคาสินค้าเกษตรที่มาจาก ‘ปัจจัยภายนอก’ เสียเยอะเท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อธิบายว่าทำไมเมืองไทยตอนนี้ค่าไฟฟ้าก็ขึ้น ค่าทางด่วนก็ขึ้น ขนาดค่าเรือด่วนก็ยังขึ้นเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราจะมาอธิบายในโอกาสหน้าอีกครั้งว่ามันเกิดอะไรขึ้น
อ้างอิง
- ตลาดไท. https://talaadthai.com/product-search
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. https://bit.ly/33rNbJd
- PTTOR. https://www.pttor.com/th/oil_price
- Global Times. Pork price in China marks a continuous increase for 5 weeks, up 34.9%. https://www.globaltimes.cn/page/202111/1239554.shtml