Colgate เตรียมเปลี่ยนมาใช้ ‘หลอดยาสีฟันรีไซเคิล’ พร้อมกันทั่วโลกในปี 2025

- Project: Colgate เตรียมเปลี่ยนมาใช้ ‘หลอดยาสีฟันรีไซเคิล’ พร้อมกันทั่วโลกในปี 2025
- Business Unit: Content
วิถีชีวิตประจำวันของใครหลายคน พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องแปรงฟัน ทำให้ ‘ยาสีฟัน’ ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่มีความจำเป็น จนบางครั้งเราก็อาจจะละเลยไปว่า ‘หลอดยาสีฟัน’ นี่แหละที่เป็นขยะพลาสติกกองโตดีๆ นี่เอง เพราะเมื่อเราใช้หมดก็ต้องทิ้งเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ เนื่องจากตัวหลอดมีส่วนประกอบที่ทำมาจากพลาสติกกับอะลูมิเนียมผสมกันอยู่
ในยุคปัจจุบัน นโยบายด้านความยั่งยืนได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรมากขึ้น ทำให้ ‘คอลเกต’ (Colgate) บริษัทผู้ผลิตยาสีฟันรายใหญ่ จึงออกมาประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ใช้เวลาออกแบบนานกว่า 5 ปี กับการเปิดตัวหลอดยาสีฟันใหม่ที่‘สามารถรีไซเคิลได้’ ในสหรัฐอเมริกาช่วงปีหน้าและคาดว่าจะออกสู่ตลาดทั่วโลกในปี 2025

ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะเริ่มจากบรรจุภัณฑ์หลอดยาสีฟันรีไซเคิลใน 4 รุ่นนี้ก่อน ได้แก่ รุ่น Cavity Protection, Max Fresh Cool, Whole Whitening และ Optic White ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป นอกจากนั้นบนหลอดยาสีฟันจะมีข้อความกำกับว่า ‘Recycle Me!’ ไว้ เพื่อเป็นการเตือนผู้ใช้ให้รู้ว่ามันสามารถรีไซเคิลได้ ฉะนั้นควรทิ้งแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง

มีข้อมูลน่าสนใจว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแค่ประเทศเดียวมีการทิ้งหลอดยาสีฟันกว่าพันล้านชิ้นต่อปี ซึ่งกระบวนการสิ้นสุดด้วยการฝังกลบในหลุมขยะ ทำให้คอลเกต บริษัทยาสีฟันชั้นนำที่รู้จักกันทั่วโลก ตั้งความหวังว่าจะลดจำนวน ‘ขยะพลาสติก’ ที่เกิดขึ้นได้
คอลเกต ก่อตั้งขึ้นในปี 1873 ปัจจุบันสามารถครองส่วนแบ่งถึง 34 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดยาสีฟันในสหรัฐอเมริกา โดยมีการพัฒนาหลอดยาสีฟันมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้มีการใช้หลอดยาสีฟันเป็นอะลูมิเนียม จนเปลี่ยนมาเป็นหลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง

เกร็ก คอร์รา (Greg Corra) ผู้อำนวยการฝ่ายบรรจุภัณฑ์ของคอลเกต กล่าวว่า หลอดพลาสติกคอลเกตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ถูกผลิตมาจากวัสดุหลายชนิด และส่วนใหญ่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ทีมออกแบบของคอลเกตจึงหาทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือ HDPE ซึ่งเป็นวัสดุที่มักใช้ทำขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ภาชนะใส่นม และขวดวิตามิน ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายกว่า
ตอนแรกที่มีการนำ HDPE มาใช้ผลิตหลอดสีฟันก็พบปัญหา เพราะวัสดุไม่ยืดหยุ่น ทำให้บีบยาสีฟันออกมาได้ยาก ในที่สุดทีมออกแบบเลือกใช้วัสดุในแต่ละชั้นที่มี HDPE แตกต่างกัน หรือคนละเกรดมาผสมกัน ช่วยให้บีบยาสีฟันออกมาได้ง่าย อีกทั้งหลอดไม่แตกเพราะมีความแข็งมากพอ ที่สำคัญคือสามารถรีไซเคิลได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่มียาสีฟันติดอยู่ในหลอดคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลว่าจะยุ่งยากในการทำความสะอาดก่อนทิ้งเพื่อนำไปรีไซเคิล เนื่องจากยาสีฟันนั้นสามารถละลายน้ำได้ หรือล้างออกได้ระหว่างขั้นตอนทำความสะอาดในโรงงานรีไซเคิล
อ้างอิง
- nimipatel. After 149 years, Colgate’s toothpaste tubes are finally recyclable. https://bit.ly/3FYmqtr