“ไม่ได้แต่งตัวเพื่อเอาใจ หรือต้องการให้ใครมอง แต่แต่งเพราะอยากแต่ง” คุยกับ ‘พลอยชมพู-ญานนีน’ ในวันที่เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่สนค่านิยมของสังคม

- Year: 2022
- Project: “ไม่ได้แต่งตัวเพื่อเอาใจ หรือต้องการให้ใครมอง แต่แต่งเพราะอยากแต่ง” คุยกับ ‘พลอยชมพู-ญานนีน’ ในวันที่เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่สนค่านิยมของสังคม
- Business Unit: Content
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยปลูกฝังค่านิยมให้ ‘ผู้หญิง’ ต้องแต่งตัวเรียบร้อย ห้ามโป๊ ห้ามโชว์เนื้อหนังมังสา หากใครที่ไม่ทำตาม หรือฝืนกรอบที่กำหนดไว้ก็จะถูกตำหนิ ก่นด่า หรือถูกลดทอนคุณค่าให้กลายเป็นผู้หญิงไม่ดี
จนตอนนี้เหมือนฝันลมๆ แล้งๆ ว่าความเชื่อดังกล่าวจะหายไป หรือเกิดความเข้าใจเสียใหม่ ซึ่งการแต่งตัวไม่ใช่แค่การสื่อสารทางวัฒนธรรม แต่เป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อน ‘ตัวตน’ หรือ ‘รสนิยม’ ความชอบต่างๆ ของผู้คนออกมา เพียงแต่ให้มันอยู่บนพื้นฐานของกาลเทศะ ดูความเหมาะสมของเวลา สถานที่
เป็นโอกาสดีที่ BrandThink ได้มีโอกาสคุยกับ ‘พลอยชมพู’ ญานนีน ภารวี ไวเกล หญิงสาวลูกครึ่งเยอรมันวัย 22 ปี ศิลปินอิสระ ที่หลายคนน่าจะเริ่มต้นรู้จักเธอจากบทบาทนักแสดงมิวสิกวิดีโอ ละคร และภาพยนตร์ ถึงประเด็นการตัดสินคุณค่าผ่านตัวตนภายนอกที่ไม่ตรงกรอบสังคม
หากใครที่ได้ติดตามจะเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ภายนอกของเธอเปลี่ยนไปแบบเห็นได้ชัด จากลุคหวานสู่ลุคเซ็กซี่ รวมถึงการเจาะจมูก และรอยสักบนร่างกาย จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบสุดโต่ง
ซึ่งเธอถูกตัดสินทันทีว่าเป็นผู้หญิงแรงๆ แต่ท้ายที่สุดเธอมองข้ามค่านิยมของสังคมด้านการแต่งกายที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน เปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นความกล้า แล้วเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ชอบ แบบที่ใช่ และขอเลือกเส้นทางของตัวเองที่คิดว่ามีความสุขมากที่สุด
ลองนิยามตัวตนหน่อยว่าตอนนี้เป็นยังไง
เท่าที่สังเกตตัวเองคิดว่าน่าจะสดใส มีสีสัน เพราะเราเป็นคนยิ้มง่ายมาตลอด แค่ตอนนี้เพิ่มความเปรี้ยว ความเซ็กซี่มานิดนึง (ยิ้ม)
แปลว่าที่ผ่านมาต้องแบกรับกับความคาดหวังของคนอื่นใช่ไหม
ตอนอายุประมาณ 19-20 ปี เป็นช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะช่วงนั้นเรากำลังค้นหาตัวตนอยู่ว่าเรามองตัวเองในแบบไหน เราอยากลองทำอะไรใหม่ๆ
แต่ด้วยความที่เป็นคนสาธารณะ อยู่ที่แจ้ง มีแสง มีคนจับจ้อง เราแบกรับความคาดหวัง ความกดดัน และฟังคำพูดของคนอื่นเยอะเกินไป จนไม่ได้ทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเองจริงๆ
แล้วมีจุดเปลี่ยนตอนไหน หรืออะไรที่ทำให้มีตัวตนเช่นทุกวันนี้
ช่วงที่เราทำงานอยู่ภายใต้บริษัท ตอนนั้นรู้สึกอัดอั้นมาก ถูกควบคุมในทุกๆ เรื่อง ทำให้ไม่รู้ว่าจะปลดปล่อยตัวเอง หรือแสดงออกมายังไง เราเลยใช้เวลาว่างตรงนั้น มองหาแรงบันดาลใจ จินตนาการให้กับตัวเอง และคอยสังเกตว่าเห็นอะไร หรือสิ่งไหนที่ดึงดูดเรา พอทำแล้วรู้สึกดี นั่นแหละก็เป็นทางที่ใช่ของเรา
ยิ่งตอนนี้กลับมาทำงานเป็นศิลปินอิสระ เหมือนได้อิสระกลับคืนมา เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น รู้สึกสนุกกับการแต่งตัว แต่งหน้า มีความสุขกับการค้นหาสไตล์ที่ชอบ และมีภาพในหัวที่ชัดเจน อยากเป็นคนแบบไหนก็จะพยายามทำ เพื่อให้ตัวเองเป็นแบบนั้น
คุณมีมุมมองต่อประโยคที่ว่า ‘ผู้หญิงต้องเรียบร้อย/แต่งตัวโป๊=ผู้หญิงไม่ดี’ อย่างไร
เราไม่รู้ว่าประโยคนี้มันเริ่มต้นมาจากไหนเหมือนกัน แค่รู้สึกว่าถ้าทุกคนไปอยู่ในกรอบค่านิยมนั้นหมด ทุกคนก็เหมือนกันหมด ไม่มีความแตกต่างอะไร เพราะเชื่อว่าบางคนที่อยู่ในกรอบนั้นก็อาจจะไม่เป็นตัวเอง จนไม่มีความสุข
สำหรับเรารู้สึกว่าการเป็นตัวตนของตัวเอง มันเหมือนการเพิ่มสีสันให้ชีวิตของคน ทำให้สังคม หรือโลกของเราเป็นสายรุ้ง ทำให้การอยู่ร่วมกันไม่น่าเบื่อ เพราะทุกคนให้อิสระกับตัวเองได้มีจินตนาการทำอะไรที่แตกต่าง
รู้สึกอย่างไรที่ต้องถูกควบคุม หรือถูกตีกรอบไม่ให้เป็นตัวของตัวเอง
รู้สึกว่าภาพลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเอกลักษณ์ของเรา พอถูกตีกรอบ ถูกห้ามทำแบบนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเปิดเผยตัวตนของเราออกมายังไงได้บ้าง เพราะเราไม่มีความสุขกับการที่คนอื่นไม่ได้เห็นตัวตนของเราจริงๆ
ใช้เวลาคิด หรือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองนานไหม
จริงๆ อืม… (นิ่งคิดสักพัก) ตอบยากมากเลย เพราะมีทั้งช่วงที่เรารู้สึกชอบตัวเอง รู้สึกเบื่อ แต่ด้วยความที่เราโตขึ้นเรื่อยๆ ทัศนคติ หรือมุมมองของเราเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ตามประสบการณ์มันก็เริ่มคิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองในแบบที่ชอบแล้ว
ด้วยลุคการแต่งตัวที่เปลี่ยนไป แต่งตัวเซ็กซี่มากขึ้น คุณกลัวคำวิจารณ์ หรือสายตาที่มองเข้ามาบ้างไหม
ตอนเด็กๆ เรากลัวมาตลอดเลยเลือกแต่งตัวมิดชิดมาก เพิ่งจะกล้าแต่งตัวเซ็กซี่ขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาเอง ซึ่งเราไม่ได้แต่งตัวเพื่อเอาใจใคร หรือต้องการให้ใครมอง แต่แต่งเพราะอยากแต่ง การที่คนอื่นจะมาฉวยโอกาสคุกคาม แล้วอ้างว่าเป็นเพราะการแต่งตัว มันไม่ใช่และไม่ถูกต้องเลย จริงๆ มันอยู่ที่จิตใจของคนมากกว่า ว่ามองผู้อื่นเป็นมนุษย์ หรือมองเป็นวัตถุ
ตอนมีรอยสัก เจาะจมูก เจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมบ้างไหม
คนมักจะบอกกับเราว่า ชอบเราสมัยก่อนมากกว่า แต่นั่นมันก็สิบปีแล้วนะ (หัวเราะ) อย่างรอยสักเราคิดมานานแล้ว การสักเป็นสิ่งที่เราชอบ ช่วยเพิ่มตัวตนของเรา ให้มีความมั่นใจขึ้น หรือตอนเจาะจมูกโดนกระแสหนักกว่าตอนที่สักอีก เราก็แอบงงเหมือนกัน (ยิ้ม) เพราะจิวจมูกมันเอาออกได้ ซ่อนได้นะ ซึ่งเราไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่ทำ เพราะมันทำให้เราเข้าใกล้กับตัวตนที่อยากเป็นมากขึ้น
พอเป็นตัวของตัวเองก็ถูกตัดสินคุณค่าจากภาพลักษณ์ภายนอก?
เล่าก่อนว่าตั้งแต่เข้าวงการมา เราแคร์คำพูดคนอื่น คนรอบข้างมาตลอด จนเราเริ่มเหนื่อย ไม่อยากใส่ใจกับคำพูดเหล่านั้นแล้ว เพราะหลายๆ ครั้งการที่ตัดสินจากภาพลักษณ์ภายนอก มันเป็นคำพูด หรือคำวิจารณ์ที่ไม่มีประโยชน์กับชีวิต ส่วนใหญ่ไม่ได้ติเพื่อก่อจริงๆ เราเลยมองว่าไม่ควรตัดสินคนจากภายนอก สังคมเราควรเปิดกว้างมากขึ้น
กังวลไหมเมื่อตัวตนภายนอกเราไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมของสังคม
เราไม่ได้รู้สึกว่ามันทำให้เป็นปัญหาสำหรับเรา แต่กลับทำให้เกิดบทสนทนามากกว่า อย่างการมีรอยสักมันดึงดูดให้คนเข้ามา มีโอกาสได้พูดคุย ทักทาย ถามกันมากขึ้นว่า สักกี่ลาย สักเจ็บไหม เจาะจมูกมาเป็นไงบ้าง
คิดว่าปัจจุบันได้เป็นตัวเองมากน้อยแค่ไหน
เป็นตัวของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์เลย (หัวเราะ) ณ จุดนี้เรารู้สึกว่าเป็นตัวเองมากที่สุดแล้ว ได้ค้นหาตัวเองแล้วว่าชอบอะไร ชอบตัวเองในแบบไหน ก่อนหน้านี้เคยพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับความคาดหวังของคนอื่น แต่มันไม่มีความสุข
สุดท้ายนี้ บทเรียนที่ได้เรียนรู้ในวัย 22 ปี คืออะไร
เราเจอคำวิจารณ์ในเรื่องของภาพลักษณ์ภายนอกมาตลอด พวกเขาใช้เวลาในการคอมเมนต์เพียงไม่กี่นาที แต่ฝังใจเราไปอีกนาน จนเราตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่มีความสุข เลยได้คำตอบว่า บางครั้งคงต้องเลือกระหว่างเก็บไว้ หรือปล่อยผ่าน เพราะสุดท้ายเราอยากให้เกียรติ และเคารพความชอบของตัวเอง