‘เสียงควบคุมสมอง’ มีจริงๆ นักวิจัยใช้คลื่นอัลตราซาวนด์คุมเซลล์ประสาทในระดับที่ขยับร่างกายหนูได้สำเร็จ

- Project: ‘เสียงควบคุมสมอง’ มีจริงๆ นักวิจัยใช้คลื่นอัลตราซาวนด์คุมเซลล์ประสาทในระดับที่ขยับร่างกายหนูได้สำเร็จ
- Business Unit: Content
เราอาจเคยได้ยินพวกทฤษฎีสมคบคิดทำนองว่ามนุษย์เราถูกควบคุมและชักใยจาก ‘สิ่งที่เราไม่ได้ยิน’ อยู่ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องเดียวกับที่คนจำนวนมากคิดว่าชีวิตเราได้รับอิทธิพลจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรามองไม่เห็น
มีข้อมูลยืนยันว่าความเชื่อเหล่านี้ ‘ไม่เป็นความจริง’ บนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ไม่ได้พยายามในการจะสร้างระบบ ‘ควบคุมระยะไกล’ กับสิ่งมีชีวิต
จะว่าไปแล้ว เทคโนโลยีพวกนี้มันเริ่มมาในปี 2015 เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าโปรตีนที่ชื่อ ‘TRP-4’ มันมีปฏิกิริยาต่อคลื่นเสียงที่มีความถี่มากกว่าที่มนุษย์ที่จะได้ยินหรือที่เรียกกันว่าอัลตราซาวนด์
นี่ถือเป็นหลักฐานแรกๆ ที่พิสูจน์ว่าการควบคุมเซลล์ด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ทำได้จริงๆ ซึ่งก็มีการทดลองต่อมาเช่นการตัดต่อให้หนอนตัวกลมมีเซลล์ TRP-4 แล้วลองส่งคลื่นไปในร่างกายมันดู ก็พบว่าเซลล์มีปฏิกิริยาจริงๆ
การทดลองมีมาเรื่อยๆ และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์สามารถควบคุมการขยับขาของหนูตัวเป็นๆ ผ่านการส่งคลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปคุมการทำงานของโปรตีน TRP-4 ในเซลล์ประสาทได้แล้ว และรายงานผลวิจัยมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ไม่ต้องเดาเลยว่า สถานีต่อไปนักวิทยาศาสตร์ก็น่าจะพยายามทดลองกับมนุษย์
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าเขาทำไปเพื่ออะไร?
แน่นอน ด้านหนึ่งคนอาจจินตนาการถึงอาวุธที่ใช้คลื่นเสียงควบคุมร่างกายมนุษย์แบบที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังไซไฟ แต่อีกด้าน จริงๆ มันคือเทคโนโลยีการแพทย์ที่สำคัญยิ่ง
ทุกวันนี้ความผิดปกติของสมองที่ทำให้คนชัก หรือความผิดปกติของหัวใจที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ‘รักษา’ ได้ยากมาก ผ่าตัดก็อันตราย ซึ่งเขาก็มองว่าไอเดียส่งคลื่นอัลตราซาวน์จากภายนอกไปคุมเซลล์นี่แหละ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการบำบัดรักษาอาการเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็น ‘การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด’ และมันจะช่วยรักษาชีวิตพร้อมทั้งเสริมสวัสดิภาพให้มนุษย์จำนวนมาก พร้อมทั้งประหยัดงบทางการแพทย์อีกมหาศาล
แต่บางคนก็อาจกลัวมัน ‘ถูกนำไปใช้ในทางไม่ดี’ ซึ่งตรงนี้บอกเลยว่ายังอีกไกล เพราะถ้ามีความรู้เรื่องการทำงานของร่างกายมนุษย์บ้าง ก็คงจะทราบว่าจริงๆ การทำงานของเรามันคือกระบวนการทางชีวเคมีที่ซับซ้อน การคุมโปรตีนในเซลล์ประสาทได้ตัวเดียวนี่ถือว่ายังอีกไกลกว่าจะสามารถควบคุมร่างกายคนไปให้ไปทำโน่นทำนี่ได้ตามใจชอบ
ดังนั้นอย่าเพิ่งไปกลัวเพราะ ‘ข้อดี’ ของมันน่าจะเกิดก่อนแน่ๆ
อ้างอิง
- IFLS. Ultrasound Controls Brain Cells Of Live Mice In ‘Sonogenetics’ Breakthrough. https://bit.ly/3LU1ibS