“เด็กสมัยนี้เหนื่อยกว่ายุคเราเยอะนะ อายุ 26 แม่งเบิร์นเอาท์แล้ว” ความในใจของคน Gen X กับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ในวันที่หนังเรื่องล่าสุดของเขากำลังลาโรง | BrandThink

- Project: “เด็กสมัยนี้เหนื่อยกว่ายุคเราเยอะนะ อายุ 26 แม่งเบิร์นเอาท์แล้ว” ความในใจของคน Gen X กับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ในวันที่หนังเรื่องล่าสุดของเขากำลังลาโรง | BrandThink
- Business Unit: Content
ตามปกติแล้ว เวลาจะถ่ายทอดบทสนทนาออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ เรามักตัดทอนบางคำยิบย่อยออกเพื่อสุนทรียะและอรรถรสในการอ่าน
แต่หลังจากที่คน Gen X อย่าง ‘สิงห์-สกก์บงกช ขันทอง’ ทีมคอนเทนต์ของ BrandThink ได้พูดคุยกับ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’ เรากลับคิดว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แทบไม่ต้องตัดคำใดออกไปเลย เพราะมันทั้งเล่าเรื่อง สื่ออารมณ์ และโชว์ให้เห็นเป็นอย่างดีว่าเวลาคน Gen X เฝ้ามองยุคสมัย พวกเขารู้สึกต่ออดีต ปัจจุบันและอนาคต อย่างไร
จริงอยู่ ที่เราไปสนทนากับคงเดชในวาระที่ แอน (Faces of Anne) หนังภายใต้การกำกับล่าสุดของเขา กำลังออกฉาย แต่เมื่อคนวัยเดียวกันมาเจอกัน เรื่องราวที่พูดถึงจึงครอบคลุมไปถึงช่วงเวลาก่อนหน้าและต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เองที่กลั่นออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ที่ต่อให้ไม่ใช่ Gen X คุณก็สามารถเชื่อมโยงได้
เพราะมันพูดถึงทุกตัวตนที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างทุลักทุเล ไม่ว่าเป็นคน Gen ไหนก็ตาม
ถ้าไล่ดูรอยทางชีวิตคุณ นอกจากการเป็นผู้กำกับการแสดง คุณทำหลายอย่างมาก ทั้งเขียนบทหนังให้คนอื่น ทำวง 4 เต่าเธอ ลงเสียงโฆษณา เป็น annoucer ให้ Cartoon Network หรือแม้กระทั่งเขียนหนังสือ เหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะ ‘ความอยาก’ หรือเปล่า
ไม่… (ลากเสียงยาว) ไม่ใช่เพราะความอยากเลย ตอบแบบไม่หล่อเลยนะ คือถ้าลองดูแต่ละอย่างที่เราทำน่ะ เราไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการทำอะไรแค่อย่างเดียวได้ ดังนั้นพูดง่ายๆ คือที่ผ่านมาอะไรเป็นเงิน กูทำหมด
แต่ทีนี้ที่ได้ทำหลายอย่างขนาดนั้น เรามองว่ามันคือโอกาสมากกว่า เพราะเราไม่เคยออกแบบว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งหมดคือจังหวะชีวิตที่ทำให้ได้ลองทำงานใหม่ไปเรื่อยๆ เช่น พอทำวง ‘4 เต่าเธอ’ แล้วเริ่มซา เราก็ได้โอกาสทำหนังพอดีเพราะเป็นความฝันที่ตั้งใจอยู่แล้ว หรืออย่างการลงเสียงโฆษณา มันก็เกิดจากการที่มีคนมาสัมภาษณ์เราแล้วเขาทำงานอยู่ในวงการโฆษณา เขาเลยบอกว่าเราน่าจะลงเสียงได้ แม้กระทั่งการทำหนังสือก็เกิดขึ้นจากการพูดคุยกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่มาสัมภาษณ์เราเหมือนกัน ดังนั้นนอกจากหนัง ทั้งหมดไม่ได้มีอะไรที่ตั้งใจวางแผนไว้ เราแค่เอาชีวิตให้รอด มีอะไรให้ทำก็ทำ เพราะอย่างที่รู้กันว่าทำหนังอย่างเดียวไม่รอดหรอก ยิ่งเป็นหนังแบบที่เราอยากทำด้วยนะ (ส่ายหน้าและยิ้ม)
แล้วคุณเคยมีความคิดอยากลงลึกในอะไรสักอย่างไหม เผื่อว่ามันจะอยู่รอดได้ด้วยอาชีพเดียว
ไม่เคยมีเลยว่ะ อย่างงานหนังนี่ไม่ต้องพูดถึง ค่าตอบแทนไม่พอแน่ๆ แต่อย่างงานลงเสียง เอาเข้าจริงก็มีช่วงที่แบรนด์ต่างๆ ใช้งานเราประจำนะ แต่เราก็ไม่เคยรู้สึกมั่นคงเลย หรือการเขียนบทหนังให้คนอื่นที่ก็มีช่วงไปได้ดี แต่เราก็ไม่เคยมองแบบนั้น (นิ่งคิด) ซึ่งเราว่าก็ดีเหมือนกัน มันทำให้เราไม่ย่ามใจและยังทำงานอยู่ ยิ่งทุกวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าตัวเองคิดถูก เพราะโอกาสตรงนั้นก็ค่อยๆ ลดลงไปตามวัฏจักร
ถ้า ‘อะไรเป็นเงิน กูก็ทำหมด’ แล้วทำไมพอถึงจุดหนึ่งคุณถึงไม่ทำหนังกับสตูดิโอต่อ แต่เลือกออกมาทำหนังอิสระแทน
ไม่ใช่เราเลือกหรอก แต่ไอ้สิ่งที่เราอยากทำเป็นหนังน่ะ เราคิดว่าสตูดิโอคงไม่เอาแล้ว (หัวเราะ)
คือเราเป็นคน realistic กับตัวเอง แล้วด้วยบรรยากาศในวงการตอนนั้น เรารู้ดีว่าถ้าเอาไอเดียของตัวเองไปเสนอกับสตูดิโอ เขาคงด่าแม่เอาแน่ๆ ดังนั้นเราเลยตั้งคำถามต่อว่าแล้วถ้างั้นต้องทำอย่างไรถึงจะได้ทำหนังในแบบที่ตัวเองอยากทำ นั่นแหละหนังอิสระจึงเป็นคำตอบ และ แต่เพียงผู้เดียว (หนังอิสระเรื่องแรกของคงเดช) ก็เกิดขึ้น ทำให้วงจรการทำหนังอิสระของเราเริ่มหมุนจนถึงตอนนี้
ดูจังหวะชีวิตคุณเป๊ะเหมือนกัน เพราะถึงไม่มีงานประจำแต่ก็มีโอกาสเข้ามาต่อเนื่องตลอด
ใช่ๆ แต่ในขณะเดียวกันระหว่างทำทั้งหมดนั้น เราก็มีสิ่งที่ตัวเองยึดถือ คือไม่ว่าทำอะไรในชีวิต เราจะได้ผลลัพธ์จากมันเสมอ และผลลัพธ์นั้นจะพาเราไปสู่ที่ใหม่เรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่นการที่ได้ทำหนังเรื่องแรกกับค่ายบาแรมยู นั่นก็เพราะว่าก่อนหน้านั้นช่วงเรียนเราได้ไปเป็นผู้ช่วยของพี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว – ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งบริษัท บาแรมยู) มาก่อน ดังนั้นพูดง่ายๆ ว่าเราเชื่อในเรื่องของกรรมนั่นเอง
ย้อนกลับมาที่เรื่องหนังบ้าง ตั้งแต่ ตั้งวง เป็นต้นมา เหมือนคุณจะเริ่มใส่เรื่องราวของวัยรุ่นลงไปในหนังมากขึ้น จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง แอน ก็เป็นแบบนั้น เลยสงสัยว่าเป็นเพราะคุณมีลูกหรือเปล่า จึงใส่ประเด็นเหล่านี้เข้าไป
ถ้าตอนทำ ตั้งวง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องลูกเยอะเท่าไหร่นะ เพราะเขายังเด็กมาก ตอนนั้นเราคิดถึงเรื่องบรรยากาศบ้านเมืองมากกว่า แต่ด้วยความที่เราสนใจคนตัวเล็กๆ ในสังคม หรือคนที่อยู่ชายขอบ ใน ตั้งวง เราเลยเลือกเล่าเรื่องของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่สงสัยในวัฒนธรรมไทยแทน ถึงกระนั้นตัวละครเหล่านี้ก็มีความเป็นสังคมและการเมืองผสมอยู่อย่างเลี่ยงไม่ได้
เพราะอย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 2549 บ้านเมืองเราแม่งไม่ไปไหนเลย มันไม่ได้ก้าวหน้าแม้เพียงสักนิด ดังนั้นสำหรับเรา การเมืองกระทบชีวิตคนแน่นอน มันกระทบคุณแน่ๆ ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่ เราเลยรู้สึกว่าในเมื่อทำหนังเล่าเรื่องของคน ตัวละครเราบอกเล่าเรื่องเหล่านี้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เพราะการเมืองอยู่คู่กับคนตลอด
แต่ต้องอธิบายก่อนว่า เราไม่ได้ว่าคนที่ทำหนังแล้วไม่พูดเรื่องสังคมนะ เพราะหนังสำหรับบางคนอาจเป็นมหรสพก็ได้ เพียงแค่ธรรมชาติเราดันเลือกเป็นแบบนี้เอง หนังเราเลยมีบรรยากาศการเมืองอยู่ตลอดนับตั้งแต่นั้น แม้จะเคลือบด้วยความโรแมนติกยังไงก็ตาม
(นิ่งคิด) แต่ถ้ากลับไปที่คำถาม เราว่าการเอาลูกมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานน่าจะมาชัดตอน Where We Belong มากกว่า
หน้าฉากที่เป็นนักแสดงจาก BNK48 แล้วเบื้องหลังคืออะไรบ้าง
เหมือนตอนนั้นด้วยวัยแล้วลูกเราก็เริ่มมีคำถามแหละ เขาเริ่มไม่ชอบระบบเหมือนพ่อ เริ่มหาที่ที่ตัวเองจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งช่วงที่เขียนบทเรื่องนี้ก็ไปตรงกับตอนที่เราตัดสินใจเอาลูกออกจากระบบการศึกษาแล้วมาทำ Home School พอดี บวกกับตัวเราเองที่ไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับอะไร ทั้งหมดนี้มันเลยกลายเป็นประเด็นใน Where We Belong
แต่กับเรื่องที่มี BNK48 เป็นหน้าฉาก เราว่า BNK48 คือตัวแทนที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราอยากสื่อสารเลยล่ะ เพราะด้วยระบบที่น้องๆ อยู่ มันสะท้อนไปถึงความรู้สึกของวัยรุ่นในยุคนี้ได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นความหวานอมขมกลืนที่ต้องเผชิญ หรือการอยู่ในระบบเพราะความฝันแต่ดันโดนระบบทำให้เศร้า เราว่ามันพ้องกับสภาพบ้านเมืองในตอนนั้นมากๆ คือเด็กและวัยรุ่นไม่ค่อยมีทางเลือกในการจะมีความสุขเท่าไหร่
ทำไมเรื่องลูกถึงไปรวมกับการเมืองได้
เพราะลูกเราเกิดปี 2548
โอ้โห…
นึกออกไหมล่ะ ว่าตั้งแต่ลูกเราเกิดมา ประเทศแม่งไม่ได้เดินหน้าเลย และวัยรุ่นในทุกวันนี้เขาก็คงคิดเหมือนกัน ว่าทั้งชีวิตเขาอยู่ในประเทศที่ก้าวถอยหลัง ซึ่งมันส่งผลต่อเนื่องให้เด็กกลายเป็นคนที่หมดหวังตามไปด้วย
คือด้วยอาชีพ เราทำงานกับคนหนุ่มสาวตลอดเวลา มีเด็กเข้ามาฝึกงานทุกเดือน มันทำให้เราได้เห็นนะ ว่าวัยรุ่นยุคนี้เป็นซึมเศร้ามากขนาดไหน เด็กในกองที่ข้อมือมีรอยก็เยอะแยะ หรืออย่างเวลาไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย เพื่อนเราที่เป็นอาจารย์ก็เล่าว่ามีเด็กที่เป็นซึมเศร้าไม่ต่ำกว่าครึ่ง ดังนั้นเราว่านี่เป็นวาระแห่งชาติได้เลย
ซึ่งเราว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่วัยรุ่นยุคนี้เขาโตมาโดยมีโทรศัพท์ซึ่งเป็นดั่งอำนาจอยู่ในมือนั่นแหละ เขาคุ้นชินกับอำนาจนั้น ดังนั้นเวลาเด็กเจออะไรที่บีบบังคับให้เขาลำบากหรือต้องอดทน เขาจะตั้งคำถามทันทีว่าทำไมกูต้องทน ยกตัวอย่างใกล้ตัวอย่างการดูหนังในโรงภาพยนตร์ นี่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับวัยรุ่นยุคนี้อีกแล้ว เพราะมันบังคับให้เขาเดินทางไปดู จ่ายแพง นั่งอยู่กับที่ และไม่ให้กูเล่นมือถือในโรงด้วยไอ้สัส แถมต้องมาคำนวณอีกว่าจะต้องยืนหรือนั่งก่อนหนังฉาย ทุกภาวะในโรงหนังค้านกับการใช้ชีวิตของเด็กยุคใหม่ที่คุ้นเคยกับอำนาจหมด แต่พอมองย้อนไปที่การอยู่ในสังคม กลายเป็นว่าเด็กทุกวันนี้ถูกทำให้รู้สึกว่ามีอำนาจ ทั้งที่ไม่ได้มีจริงๆ พวกเขาเลยเคว้ง ควบคุมตัวเองไม่ได้ หนักเข้าก็กลายเป็นความเศร้าอย่างที่เห็น
เหมือนเรื่องล่าสุดใน แอน ก็พูดประเด็นนี้
ใช่ เรามองว่า แอน เป็นผลกระทบต่อเนื่องจาก Where We Belong นั่นแหละ เพราะตอนทำ Where We Belong เราได้ใกล้ชิดและสัมภาษณ์วัยรุ่นเยอะมาก ซึ่งทุกคนแม่งมีภาวะเดียวกันหมด คือไม่มีความสุข อย่างบางคนมาสัมภาษณ์ตามคิวแต่นั่งลงบนเก้าอี้ปุ๊บแล้วร้องไห้ทันทีเลยก็มี
เขาเล่าให้ฟังไหมว่าเพราะอะไร
เขาบอกว่าไม่ไหวแล้ว เราก็บอกให้ใจเย็นก่อน ค่อยๆ คุย ซึ่งเขาก็เล่าให้ฟังต่อว่าตอนนี้เขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ กำลังเจอปัญหานู่นนี่นั่น แต่เอาจริงนะ เราว่าไม่ใช่แค่วัยรุ่นหรอก เพราะอย่างช่วงที่ผ่านมาที่เราต้องเดินสายโปรโมต แอน เราก็ได้เจอคนทั่วไปอีกมากที่เป็นซึมเศร้า เราเลยบอกไงว่านี่คือวาระแห่งชาติ เพราะคนในยุคสมัยนี้ไม่มีทั้งความหวังและความสุข
อย่างวัยรุ่นในทุกวันนี้ เราว่าเขาเหนื่อยกว่ายุคเราเยอะนะ ยิ่งเด็กจบใหม่นี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ลองนึกตามดูก็ได้ว่าในยุคเราตอนที่เรียนจบมา ด้วยความที่รับรู้โลกภายนอกน้อย มันทำให้เราโฟกัสกับสิ่งตรงหน้าได้ง่ายกว่า วงดนตรีที่รู้จักก็มีอยู่แค่ไม่กี่วง กลับกันกับในยุคนี้ที่วัยรุ่นอยู่ท่ามกลางทะเลข้อมูล มันเยอะเสียจนท่วม ส่งผลให้เขาหาจุดโฟกัสได้ยาก หรืออย่าง Spotify ก็ทำให้พวกเขารู้สึกว่าฟังยังไงก็ไม่สามารถฟังเพลงดีๆ ได้หมดสักที บวกกับเด็กมีโซเชียลมีเดียที่เชื่อมถึงกัน ดังนั้นเขาอดเผลอไม่ได้หรอกที่จะเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นและรู้สึกว่าไม่เคยดีพอ
อย่างในยุคที่เราจบฟิล์ม (สาขาภาพยนตร์) มา เราไม่รู้จักเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยเลย ดังนั้นจบมาแล้วกูอยากทำหนัง กูก็ทำ แค่นั้น จบ กูไม่ต้องเปรียบเทียบว่าใครไปถึงไหน เพราะแค่กูจะทำให้ได้นั่นก็เหนื่อยมากพอแล้ว แต่ลองตัดภาพมาที่เด็กฟิล์มยุคนี้สิ โห แม่งส่ง Thai Short Films กันหมด แถมดึงเพื่อนต่างมหา’ลัย มาช่วยกันทำงานอีก ซึ่งควรจะเป็นเรื่องดีถูกไหม แต่กลายเป็นว่าเพราะไอ้ตรงนี้แหละที่ทำให้พอทุกคนเรียนจบ บางคนเลยไปได้เร็วมาก ในขณะที่อีกคนได้แต่คิดกับตัวเองว่า เชี่ย กูแม่งไปไม่ถึงไหนเลย ซึ่งมึง! (เน้นเสียง) มึงเพิ่งจบมาได้ปีเดียวเอง!
จากที่เราได้คลุกคลีกับเด็กมา อะไรเหล่านี้แหละที่ทำให้เด็กหลายคนคิดว่าตัวเองดีไม่พอ ดังนั้นกูต้องเร่งตัวเองมากขึ้นอีกๆๆๆ เร่งขึ้น … เพื่อจะไปชนความจริงว่าแม่งเร่งไม่ได้ว่ะ บ้านเมืองแม่งไม่ให้ สังคมแม่งไม่อนุญาตให้ทุกคนไปสู่จุดนั้น
ส่วนไอ้คนที่ไปเร็วเนี่ย เด็กรุ่นนี้แม่งโคตรเก่งเลยนะ แม่งทำได้ทุกอย่าง เรามีน้องเยอะแยะที่ขึ้นมาเป็นผู้กำกับแบบโคตรเร็ว ทำงานแม่งก็โคตรดี และทำแบบไม่หยุดพัก แต่พออายุ 26 ปุ๊บ ตู้ม แม่งเบิร์นเอาท์แล้ว เราเห็นแล้วก็ได้แต่ถามในใจว่าแล้วยังไงต่อวะเนี่ย ตอน 40 มึงจะยังไง นี่ก็เป็นปัญหาที่คนเก่งในยุคนี้ต้องเจออีก
ซึ่งตัดภาพกลับไปตอนกูอายุ 26 โธ่… กูยังไม่ได้ทำหนังเรื่องแรกเลย (หัวเราะ)
แล้วคุณได้คุยกับเด็กเก่งๆ บ้างไหมว่าเขาคิดยังไง
คุย เขาก็คิดว่าเดี๋ยวตั้งใจทำงานไป เพื่อ 30 จะได้เกษียณหรือหาทางลง ซึ่งเราก็เคารพความคิดพวกเขา แต่ก็อดเอามาคิดกับตัวเองต่อไม่ได้ว่าแล้วชีวิตที่เหลือมึงยังไงต่อวะ เพราะในยุคของมึงชีวิตจะยืนยาวกว่ารุ่นกูแน่ๆ แถมมึงต้องอยู่ในประเทศที่ไม่มีอะไรรองรับตอนแก่อีก แล้วจะยังไงต่อดี
ดูเหมือนวัยรุ่นยุคนี้แตกต่างกับตอนเราเป็นวัยรุ่นเยอะอยู่เหมือนกันนะ
ตอบในฐานะคนอื่นไม่ได้ แต่ในความคิดเรา เราว่าการที่ข้อมูลในยุคก่อนมันไม่ได้เยอะเหมือนตอนนี้นั่นแหละ ที่ส่งผลดีต่อเรา คือเราไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องไม่ดีนะ เพียงแต่พอเราโตมาในยุคที่ไม่ค่อยรู้เรื่องโลกภายนอก มันเลยช่วยให้เราโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้อย่างเต็มที่ในแบบที่ไม่ต้องพะวงว่าคนอื่นเป็นยังไง แค่กูสนใจสิ่งนี้ กูจะทำสิ่งนี้ให้ดีให้ได้ ค่อยๆ ทำไป มีคนให้กูทำก็ทำไป จบ ซึ่งเราไม่ได้นิยามว่าสิ่งนี้เป็นวิถีวัยรุ่นของยุคเราแต่อย่างใด มันแค่เป็นเราน่ะ
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพอคิดแบบนี้แล้วเราจะถือตนว่าดีกว่าใครหรอก เพราะด้วยความที่เรามีลูกอยู่ในสภาวะบ้านเมืองที่เป็นแบบนี้ด้วย มันเลยทำให้เราโคตรใส่ใจอนาคตของชาติ และแคร์มากว่าวัยรุ่นในยุคนี้เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง
นั่นเลยทำให้เราต่างกับเพื่อนบางคนมั้ง ที่แก่แล้วแก่เลย เอาแต่พูดว่า “เฮ้ยน้อง สมัยพี่แม่ง …” โถ น้องเขาเหนื่อยกว่ามึงตั้งเยอะ เด็กต้องเร่งใช้ชีวิตมากกว่าพวกมึงเยอะ และต้องเร่งแบบไม่มีทางเลือกด้วย เพราะโลกแม่งหมุนไปด้วยความเร็วนี้แล้ว ดังนั้นพวกมึงที่ยังหมุนตามโลกไม่ทันจะไปบ่นเด็กยุคนี้เพื่ออะไร กลัวโลกหลุดจากมือมึงเหรอ มึงเลยยื้อไว้ด้วยวิธีการโชว์เก๋าแบบนี้
คุณรู้สึกยังไงกับการที่วัยรุ่นยุคอัลเทอร์เนทีฟแบบยุคเรากลายเป็นสลิ่ม ทั้งที่เมื่อก่อนยังเรียกร้องหาความแตกต่างกันอยู่เลย
(นิ่งคิดนาน) เออใช่ ทำไมเด็กคูลๆ สมัยก่อนกลายเป็นสลิ่มกันหมดวะ งง แม่ง…
มันน่าตกใจเนอะ เราเองก็ตกใจ อย่างช่วงที่การเมืองแรงๆ สารภาพเลยว่าเราเห็นประโยชน์ของการกด hide เพื่อนในเฟซบุ๊กมาก เพราะเราไม่ได้อยากเลิกคบใครน่ะ เราเป็นคนเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ แต่พอเห็นความคิดของแต่ละคนแล้วแบบ … เออ ก็ hide กันไปก่อนแล้วกัน บริหารความสัมพันธ์กันไป
คำถามสุดท้าย แล้วกับลูกคุณในตอนนี้ล่ะ เขามีความคิดต่อสังคม ชีวิต และยุคสมัยอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกเราอายุ 17 ย่างเข้า 18 และกำลังเรียนอยู่ที่ประเทศโปแลนด์ เพราะด้วยปัญหาที่เห็นในสังคมเราเลยส่งเขาไปเรียนที่นั่น ซึ่งสิ่งที่เราได้ค้นพบก็คือ เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็น Thai Citizen อีกแล้ว เขารู้สึกว่าตัวเองเป็น Global Citizen มากกว่า โดยเราว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะโอกาสที่เขาได้รับนั่นแหละ ต่างกับเด็กไทยส่วนใหญ่ที่ต่อให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก แต่ถ้าไม่มีโอกาส พวกเขาก็ไม่สามารถนึกออกได้ว่าชีวิตสามารถไปได้ไกลกว่าเดิม ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ในฐานะพ่อคือให้โอกาสนั่นเอง
ไปเลย ไปจากที่นี่ แล้วไม่ต้องกลับมา ตอนนี้แผนเราคือแบบนี้ และลูกเราก็มองชีวิตตัวเองแบบนี้เช่นเดียวกัน