หุ้นบุริมสิทธิคืออะไร? ใครงง มามุงกันกงนี้…

- Year: 2022
- Project: หุ้นบุริมสิทธิคืออะไร? ใครงง มามุงกันกงนี้…
- Client: K Bank Afterklass
- Business Unit: Content Agency
สำหรับน้อง ๆ ที่เริ่มก้าวเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น สิ่งแรกที่หลายคนมีคำถามกันก็คือแล้วจะซื้อหุ้นตัวไหนดี?
แรก ๆ หลายคนอาจจะลองแวบไปเข้าหน้าเว็บตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วก็อาจจะตกใจ เพราะมีหลักทรัพย์หลายชนิด ให้ซื้อขายมาก ๆ ตั้งแต่ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ วอแรนต์ ETF DR และ DW
แน่นอน มันอาจทำให้ตาลายแบบสุด ๆ แต่ไม่ต้องวังวลไป เราจะอธิบายให้ฟัง
โดยสิ่งที่เรียกกันว่าหุ้นสามัญก็คือสิ่งที่เราเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า ‘หุ้น’ นี่แหละ ซึ่งก็คือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบริษัท และก็ไม่แปลกที่หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ที่คนซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ก็คือ ‘หุ้นสามัญ’ ที่เราคุ้นชินกันมาตลอด
แล้วเจ้าหุ้นบุริมสิทธิคืออะไร ชื่อไม่คุ้นเลย มันทำงานยังไงกันแน่
ส่วนหุ้นบุริมสิทธิ คือสิ่งที่อยู่ระหว่างกลาง หุ้นสามัญ และหุ้นกู้ ทั้งในเชิงความเสี่ยงและผลตอบแทน
ถ้าจะอธิบายให้ชัด เราขอเริ่มจากทางฝั่งบริษัทก่อนว่าทำไมถึงออกหุ้นบุริมสิทธิแต่แรก
🏦 อยากให้ลองนึกภาพตามกันก่อนว่า เวลาบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเข้ามาเพื่อระดมทุนอยู่แล้ว ซึ่งทั่วไปการระดมทุนหลักคือการออกหุ้นสามัญกับหุ้นกู้ ออกหุ้นสามัญคือการขายความเป็นหุ้นส่วนของบริษัทออกไปให้คนนอก ซึ่งคนซื้อไปก็คือเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงตอนประชุมผู้ถือหุ้น และซึ่งการเพิ่มหุ้นสามัญขึ้นมาในงบดุลของบริษัท ส่วนที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น (equity) ก็จะเพิ่มขึ้น
ส่วนหุ้นกู้ จริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่หุ้นอย่างที่เราเข้าใจ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bond มันคือ ‘ตราสารหนี้’ ซึ่งในทางการเงินถือเป็นคนละตลาดเลย ซึ่งการออกหุ้นกู้ในทางปฏิบัติก็คือบริษัทก็คือไปขอกู้เงินโดยจะคืนเงินให้ในวันเวลาที่กำหนด โดยระหว่างทางผู้ใช้กู้ก็จะได้ดอกเบี้ยตอบแทน ซึ่งการออกหุ้นกู้ ความเปลี่ยนแปลงในงบดุลก็คือ ส่วนที่เป็น ‘หนี้สิน’ ก็จะเพิ่มขึ้น
💰ที่นี้ก็จะเห็นว่าถ้าบริษัทอยากได้เงินทุนเพิ่ม บริษัทมีสองทาง ทางแรกคือได้เงินเพิ่มโดยไม่เป็นหนี้ แต่ก็จะมีคนที่มีสิทธิ์โหวตในบริษัทมากขึ้น ส่วนทางที่สองคือได้เงินเพิ่มแบบเป็นหนี้ ซึ่งอาจดูไม่ดีเวลาคนมาดูงบดุล
แล้วมันไม่มีทางออกที่เอาข้อดีของทั้งสองอย่างมาเหรอ?
คำตอบคือหุ้นบุริมสิทธิพระเอกของวันนี้นั่นเอง โดยหุ้นบุริมสิทธิในทางเทคนิคคือหุ้นนี่แหละ ดังนั้นมันจะขึ้นเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ในงบดุล แต่ความเป็นหุ้นบุริมสิทธิ หลักทั่วไปคือผู้ที่ถือก็จะไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงอะไรในการประชุมผู้ถือหุ้นทั้งนั้น ทำให้เจ้าของอุ่นใจได้ว่าคนถือหุ้นกลุ่มนี้จะมาเทคโอเวอร์บริษัทไม่ได้ เพราะไม่มีสิทธิ์โหวตใด ๆ ในบริษัท (ลองนึกภาพภาพยนตร์ก็ได้ ที่บางครั้งเราจะเห็นการพยายามแก่งแย่งชิงจำนวน เพื่อตัวเองมีอำนาจมากขึ้น)
พอน้อง ๆ อ่านมาตรงนี้อาจสงสัยว่า อ้าวพี่คะ/พี่ครับ แล้วคนซื้อจะซื้อหุ้นบุริมสิทธิกันไปทำไม?
💸 คำตอบคือ ก็ตามชื่อ หุ้นบุริมสิทธิ คือ
1.คุณจะได้สิทธิ์ต่าง ๆ เหมือนผู้ถือหุ้น (ยกเว้นสิทธิ์ในการโหวต) ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการได้เงินปันผล
2. ไปจนถึงสิทธิ์ในการได้เงินทุนคืนในกรณีบริษัทเลิกกิจการ ซึ่งในทางปฏิบัติคือ ถ้าบริษัทเจ๊งแล้วต้องเอาสินทรัพย์ขายทอดตลาด คนที่จะได้เงินก่อนคือพวก ‘เจ้าหนี้’ ถ้าเคลียร์เจ้าหนี้หมด คนถือหุ้นบุริมสิทธิคือกลุ่มถัดมาที่จะได้เงินคืน และคนถือหุ้นสามัญคือคนกลุ่มสุดท้ายที่จะได้เงินคืน
แล้วมันเหมาะกับคนที่มีความต้องการแบบไหน?
การถือหุ้นบุริมสิทธินั้นก็เหมาะกับคนที่ไม่ได้ต้องการสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของบริษัท และต้องการจะลงทุนเพื่อเอาเงินปันผลเป็นหลัก ซึ่งในภาพรวมนี่เป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าการถือหุ้นกู้ของบริษัทนั้น ๆ โดยพร้อมกันนั้น ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงกว่าหุ้นกู้ด้วย
นี่คือเหตุผลของการขายและการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ
ปัจจุบันยังมีไม่มาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มี และเป็นหุ้นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
ในไทย การซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิยังมีไม่มาก ปัจจุบันมีเพียงแค่ หุ้นบุริมสิทธิของ ทิสโก้, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, ไบโอ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เทค
โดยรหัสหุ้นบุริมสิทธิก็สังเกตง่ายว่าจะเป็นชื่อหุ้นสามัญปกติและมี –P ต่อท้าย เช่น ถ้าหุ้นสามัญของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีรหัส BH แล้ว ทางบุริมสิทธิก็จะใช้รหัส BH-P เป็นต้น
ทั้งนี้ช่องทางซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิก็ไม่ได้ต่างจากหุ้นทั่วไป
- เปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์แต่ละเจ้า
- เข้าแอปฯ ไปซื้อขายหุ้นตามปกติ
- สังเกตชื่อ -P คุณก็จะพบหุ้นบุริมสิทธิ
- เลือกหุ้นตัวที่ชอบ แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลของหุ้นนั่นก่อนนะ
*ส่วนจะซื้อหรือไม่ จะซื้อแบบไหน ก็คงจะแล้วแต่วิจารณญาณในการลงทุนของท่านผู้อ่านเองเนอะ เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนน้า