ราคาน้ำมันพุ่งเพราะอะไร โลกนี้ใครคือผู้ผลิตน้ำมันเจ้าใหญ่บ้าง?

  • Year: 2022
  • Project: ราคาน้ำมันพุ่งเพราะอะไร โลกนี้ใครคือผู้ผลิตน้ำมันเจ้าใหญ่บ้าง?
  • Business Unit: Content

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกคนสามารถสัมผัสได้ว่าราคาน้ำมันพุ่งสูงเหลือทน เมื่อน้ำมันเบนซินแตะที่ลิตรละครึ่งร้อย และส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงก็เป็นเพราะ ‘สงคราม’ ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่สร้างความตึงเครียด และเกิดสถานการณ์ ‘คว่ำบาตร’ รัสเซียในด้านต่างๆ กันอย่างถ้วนหน้า

และการที่ชาติตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรออกมาคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเมื่อวันที่ 8 มีนาคมก็ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

เมื่อเราย้อนกลับมาดูผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ๆ ของโลก เราจะพบว่าผู้ผลิตรายใหญ่ที่กินสัดส่วนขนาดใหญ่นั้นอยู่ในพื้นที่ซึ่งค่อนข้างชัดเจน

  • รัสเซีย 10.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ซาอุดีอาระเบีย 10.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • สหรัฐฯ 9.352 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • อิหร่าน 4.469 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • อิรัก 4.454 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • แคนาดา 3.977 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • จีน 3.383 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัสเซียจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่มากเป็นอันดับหนึ่งในโลก แต่ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะเป็นอันดับหนึ่งในตลาดการค้าขายน้ำมัน เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รั้งตำแหน่งชาติที่ ‘ส่งออกน้ำมัน’ มากเป็นอันดับหนึ่ง 1.76 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2019 ลำดับต่อมาเป็นซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียเป็นอันดับที่ 3 เนื่องจากน้ำมันมากกว่าครึ่งที่ผลิตในรัสเซียถูกใช้ภายในประเทศ และส่งออกราว 5-6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในปี 2021 สร้างมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นเท่าตัว

โดยประเทศที่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียเรียกได้ว่าแทบจะทั้งหมดในยุโรป รวมถึงเยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ ลิทัวเนีย กรีซ โรมาเนีย และบัลกาเรีย ตลอดจนประเทศจีนที่เป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียกว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้วยขนาดการผลิตต่อวันที่มากเป็นอันดับหนึ่ง และปริมาณการส่งออก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครนและการบอยคอตน้ำมันจากรัสเซียในบางประเทศจึงส่งกระทบต่อสถานการณ์น้ำมันโลก .

อย่างไรก็ดี หลายคนยังมองว่าเมื่อแบ่งสัดส่วนการตลาด หากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ร่วมมือกันอาจสามารถกดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ไม่ ‘พุ่งสูง’ เกินกว่าปัจจุบันได้

แต่ก็อย่างที่หลายคนทราบกันดีกว่าเรื่องของราคาน้ำมันนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การซื้อขายเพื่อน้ำไปใช้ แต่น้ำมันยังเป็น ‘การลงทุน’ ขนาดใหญ่ที่นักลงทุนยังคงดูท่าทีราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นแม้ว่าหลายประเทศจะไม่ได้ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย แต่สถานการณ์ตั้งแต่ช่วงที่รัสเซียเข้าล้อมยูเครนและมีการ ‘แห่ซื้อ’ เพื่อเก็งราคาตามความคาดหวังของนักลงทุนก่อนหน้านี้ และเมื่อมีการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียเกิดขึ้นจริงบริษัทก็ปรับขึ้นราคากันแทบไม่ทัน จนเกิดสถานการณ์ลิตรละครึ่งร้อยอย่างที่เราเห็นกัน

ภาพ: วัชรพงศ์ แหล่งหล้า

อ้างอิง:

  • World Population review. Oil Producing Countries 2022. https://bit.ly/35VBgVI
  • The conversation. The US is banning Russian oil imports, but an embargo that includes European allies would have more impact. https://bit.ly/3w3mQ0l
  • Investopedia. World’s Top 10 Oil Exporters. https://bit.ly/3KBkMRc
  • BrandThink. ราคาน้ำมันดิบจะขึ้นหรือลง เราก็เติมน้ำมันราคาเท่าเดิม แถมบางครั้งก็จ่ายแพงขึ้น-เพราะอะไร? . https://bit.ly/3tPxm8K

#ราคาน้ำมัน #ผู้ผลิตน้ำมัน #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow