“พอเห็นว่าหายไปแล้วโกรธนะ” ชวน แก๊ป–อนันตา และ โต้ง–อภิชน สองผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ ‘SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย’ มารำลึกถึงสกาลากันอีกสักรอบ | BrandThink

- Year: 2023
- Project: “พอเห็นว่าหายไปแล้วโกรธนะ” ชวน แก๊ป–อนันตา และ โต้ง–อภิชน สองผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ ‘SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย’ มารำลึกถึงสกาลากันอีกสักรอบ | BrandThink
- Business Unit: Content
ถ้านับจากวันที่โรงหนังสกาลาถูกทุบจนถึงวันนี้ เวลาเดินทางมากว่า 1 ปีกับอีก 2 เดือนแล้ว เอาเข้าจริงเวลากว่า 400 วัน ถือเป็นช่วงที่ยาวนานสำหรับหนึ่งชีวิต แต่สำหรับคอหนังหรือผู้ที่เคยประทับใจกับประสบการณ์ของสกาลา เราเชื่อว่าเวลาตรงนั้นสำหรับพวกเขาคงดูไม่นานเลย เพราะในภาพจำ สถานที่อันสวยงามนี้ยังคงปรากฏเด่นชัด ราวกับมันรอต้อนรับให้กลับไปทุกเมื่อ
เช่นเดียวกับ ‘แก๊ป’ อนันตา ฐิตานัตต์ และ ‘โต้ง’ อภิชน รัตนาภายน ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของสารคดี ‘SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย’ ที่โรงหนังแห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษสำหรับพวกเขาเช่นกัน เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ทั้งคู่แตกต่าง คือแก๊ปและโต้งเลือกหยิบเอาเรื่องราวของโรงหนังสกาล่ามาเล่าต่อเพื่อฉายในโรงหนังอีกทีหนึ่ง
และด้วยวาระที่ ‘SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย’ เข้าฉายนี้เอง เราจึงชวนทั้งคู่มาสนทนาการเพื่อย้อนรำลึกถึงสกาลากันสักหน่อย ว่าอะไรในสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่ทำให้แก๊ปและโต้งอยากสื่อสารออกมา และกว่าจะมาเป็นหนังฉายในโรงใหญ่ พวกต้องเขาผ่านอะไรกันมาบ้าง
ซึ่งคงไม่ต้องบอกหรอกเนอะ ว่าเรานัดพวกเขาแถวไหน
องก์ที่หนึ่ง
ถ้าย้อนกลับไปที่จุดแรกเริ่ม ก้าวแรกของสารคดีนี้คืออะไร คือความผูกพันต่อสกาลาหรือเปล่า
แก๊ป: อาจไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะเอาเข้าจริงเราว่าตัวเองผูกพันกับสยามฯ ในภาพใหญ่มากกว่านะ เราโตที่นี่ สกาลาจึงเป็นเพียงสถานที่ที่จะมาเวลาอยากดูหนังแค่นั้น แต่จุดแรกเริ่มของสารคดีเรื่องนี้จริงๆ คงเป็นวันที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียว่าจะมีการรื้อภายในของโรงหนังสกาลามากกว่า
เพราะสำหรับเรา วาระนั้นเหมือนเป็นสัญญาณนะ ว่าโครงสร้างทั้งหมดที่คุ้นตาอาจถูกทุบจนเหี้ยนในเร็ววัน เราเลยคิดอยากถ่ายเก็บไว้หน่อย อย่างน้อยก็เป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีสถานที่แบบนี้ ที่ที่หลายคนมีความทรงจำร่วมกัน ที่ที่นักวิชาการหลายคนย้ำด้วยซ้ำว่ามันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
แต่ระหว่างเดินทางไปก็มีคิดนะ ว่าถ้าไปถึงแล้วมีหลายคนถ่ายวิดีโออยู่แล้ว เราคงวางกล้อง ไม่ถ่าย แต่กลายเป็นว่าพอไปถึงสถานที่จริง มีแค่เราที่ถ่ายได้ มีแค่เราที่ไม่ถูกไล่ออกมา เราเลยถ่ายไปเรื่อยๆ เก็บไปเรื่อยๆ
ทำไมถึงไม่โดนไล่ออกมา
แก๊ป: คงเพราะเราเติบโตมาที่นั่น บ้านเราอยู่ที่โรงหนังสยาม ทุกคนที่สกาลาเลยคุ้นเคยกับเรา พอเราเข้าไปจึงไม่มีใครมองว่าผิดแปลกอะไร
ความคุ้นชินกับสถานที่นี้หรือเปล่า ที่ทำให้เนื้อหาของสารคดีนำเสนอความเป็นมนุษย์มากกว่าความหรูหราที่หลายคนมักนึกถึงเป็นภาพแรก
แก๊ป: จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจขนาดนั้น ตอนถ่ายเราคิดแค่ว่าอยากเก็บภาพที่เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เท่านั้นเอง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราสังเกตเห็นอะไร เราก็เก็บภาพ ‘ชีวิตจริงๆ’ ของคนเบื้องหลังของสกาลาแบบนั้น ถ่ายไปเรื่อยๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยพยายามกวนเขาให้น้อยที่สุด ในหนังเลยมีฟุตเทจที่เขาหันมาคุยกับเราหลังกล้องบ้าง แกะถุงแกงพลาสติกบ้าง ซึ่งเราก็มองว่าเป็นธรรมชาติดี เพราะต่อให้ไม่มีกล้องถ่ายอยู่พวกเขาก็ใช้ชีวิตกันแบบนี้แหละ
แต่สุดท้ายพอมีภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้เยอะๆ เราจึงเริ่มคิดว่าหรือมันเอามาทำอะไรได้ล่ะ
เหมือนเห็นเส้นเรื่อง?
แก๊ป: ประมาณนั้น แต่ตอนแรกเราตั้งใจให้เป็นแค่สารคดีสั้นๆ เท่านั้นเอง เล่าเรื่องผ่านภาพจากมุมผู้สังเกตการณ์อย่างเดียว ไม่ต้องมีบรรยายใดๆ เพราะระหว่างถ่ายโต้งก็ตัดต่อเรียงกันเป็นวันต่อวันอยู่แล้ว ดังนั้นในความเข้าใจของเรา เรื่องราวทั้งหมดเลยเหมือนร้อยเรียงอยู่แล้ว แต่พอได้ไปเวิร์กชอปที่ Yamagata Documentary Dojo นั่นแหละ ‘SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย’ จึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
โต้ง: คือมันมาจากการที่วิทยากรคอมเมนต์ราฟคัต (rough cut) ครับ ว่าสำหรับคนทั่วไปอาจเข้าใจหลายๆ อย่างในหนังยากไปหน่อย โอเค จริงอยู่ที่บทสนทนาระหว่างคนเบื้องหลังในสกาลากับแก๊ปเป็นธรรมชาติที่ดีในแง่เนื้อหามาก เราอยากเก็บสิ่งนี้ไว้เล่าเรื่อง แต่ในหลายคำพูด คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจได้ เราเลยลองหาวิธีว่าจะทำอย่างไรดี ให้มีทั้งการเล่าเรื่องและความเป็นมนุษย์ สุดท้ายเราหาทางออกโดยการใช้การพากย์เสียงเพื่อเชื่อมเรื่องนั่นเอง
แก๊ป: ซึ่งตอนแรกติดปัญหานิดหน่อย เพราะโดยส่วนตัวเราไม่ชอบเล่าเรื่องตัวเอง แต่เพราะวิทยากรนั่นแหละที่บอกให้เรากล้า ‘ทดลอง’ เราเลยเริ่มเขียนเป็นเรียงความถึงโรงหนังในความทรงจำ ก่อนที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาพากย์ใส่ในหนังจนเกิดเป็นเรื่องราวอย่างที่ฉายอยู่ตอนนี้
องก์ที่สอง
อยากถามในมุมมองนอกจอบ้าง ว่าเอาเข้าจริงคนเบื้องหลังของสกาลาเคยบ่นเสียดายไหมที่โรงหนังนี้ต้องถูกทุบทิ้งไป
แก๊ป: แน่นอน เสียดายอยู่แล้ว ยิ่งพอตรงนี้หายไป มันก็แปลว่าพวกเขาต้องแยกจากที่แห่งนี้ไป ที่ที่เป็นเหมือนบ้าน ที่ที่ทุกคนเคยกินข้าวด้วยกัน ดูมวยกัน ฟังผลหวยด้วยกัน หรือปีใหม่ที่ทำกับข้าวกินกันบนดาดฟ้า (นิ่งคิด) แม้จะไม่มีใครเอ่ยปาก แต่เรารู้สึกเหมือนทุกคนกำลังทำใจลาจากจากครอบครัวเลยนะ
แต่อาจจะด้วยพื้นฐานพวกเขาที่เป็นคนตลกและอารมณ์ดีมั้ง เลยไม่ได้มีความฟูมฟายใดๆ เหมือนทุกคนพยายามเดินไปข้างหน้าตามทางของตัวเอง แม้อายุจะเยอะกันแล้วก็ตาม
ในฐานะคนทำล่ะ นอกจากเรื่องราวที่เล่า โดยส่วนตัวคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง กับการที่สกาลาถูกทุบทิ้ง
แก๊ป: เอาในแง่ความสมควรก่อน เราเห็นว่าสกาลาไม่สมควรที่จะโดนทุบ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อได้เห็นที่นี่หายไป แน่นอนว่าเราโกรธมากๆ ที่แห่งนี้มีค่ามากนะ คุณทุบไปแล้วจริงๆ เหรอ
(นิ่งคิด) แต่พอมาคิดดูตอนนี้ เราว่าก็เป็นเพราะความโกรธนี่แหละ ที่เป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เราถ่ายได้เรื่อยๆ ขนาดนั้น และถ่ายโดยตั้งใจอยากให้ภาพออกมาสวยที่สุดด้วย
ถ้าลองไล่เลียงไทม์ไลน์ดู ตอนที่ถ่ายเป็นเพียงการรื้อเฉยๆ ยังไม่ชัดเจนว่าจะทุบ ตอนนั้นคุณยังมีความหวังไหมว่าสุดท้ายมันอาจจะยังอยู่
แก๊ป: ด้วยความที่ผู้มีสิทธิ์ชี้ขาดเขาดูจะชัดเจนในการตัดสินใจตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนั้นเราเลยให้ 80 เปอร์เซ็นต์เลย ว่าสกาลาถูกทุบแน่ๆ แต่ถึงกระนั้น ด้วยความที่อยากให้มันยังอยู่ เราเลยยังเหลือไว้อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นความหวัง ซึ่งเราใช้ตรงนี้เป็นตัวเร่งให้ตัวเองทำสารคดีให้เสร็จด้วยนะ เพราะคิดว่าถ้าเสร็จก่อนโดนทุบ บางทีภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจสร้างกระแสบางอย่างจนทำให้สกาลารอดก็ได้ ตอนนั้นเลยวางแผนไว้ให้เสร็จก่อนสิ้นปี
แต่ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละว่าแค่ปลายเดือนตุลาคม สกาลาก็กลายเป็นอดีตแล้ว เร็วกว่าที่คิดไว้เยอะเหมือนกัน
กลายเป็นไคลแม็กซ์ของหนังไปเลย
แก๊ป: ใช่ แต่เป็นไคลแม็กซ์ที่ไม่อยากให้เกิดเลย จำได้ว่าวันนั้นกำลังนั่งตัดหนังอยู่เนี่ยแหละ พอรู้ปุ๊บก็โกรธ ยิ่งอยากทำให้เสร็จเร็วๆ
องก์ที่สาม
จำได้ว่าตอนนั้นเป็นกระแสในโลกออนไลน์เต็มไปหมด มีหลายคนออกมารำลึกไปจนถึงขั้นร้องไห้ แต่สุดท้ายความจริงที่ว่าสกาลาจากไปแล้วก็คือความจริงอยู่ดี คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง
โต้ง: ตอบยังไงดี
แก๊ป: (หัวเราะ) นั่นสิ… (นิ่งคิด) สำหรับเรา สารภาพว่าตอนนั้นเราโกรธทุกอย่างและทุกคน ตั้งคำถามกับความเสียดายนั้นด้วยซ้ำว่า แล้วตอนที่สกาลายังอยู่ล่ะ ทำไมไม่มาดูหนังที่นี่กัน
แต่พอเวลาผ่านไป สุดท้ายเราก็เข้าใจพวกเขาทั้งหมดนั่นแหละ หลายคนพยายามปกป้องมันด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เราอยู่กับที่นี่ตั้งแต่วันที่คนเต็มโรง จนถึงวันที่โรงหนังใหญ่เข้าไปอยู่ในห้าง เราก็ได้เห็นความจริงว่าคนมาดูหนังที่สกาลาน้อยลงเรื่อยๆ
มันเป็นเรื่องของยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านน่ะ ดังนั้นการอนุรักษ์ที่นี่ไว้จึงต้องอาศัยการเล็งเห็นคุณค่าจากส่วนกลางด้วย
โต้ง: และยิ่งตอนนั้นด้วยบรรยากาศบ้านเมือง ผมว่ามันมีหลายเรื่องให้โกรธด้วยนะ วาระของสกาลาเลยกลายเป็นแค่ ‘อีกหนึ่งเรื่อง’ ที่ผ่านไป
แก๊ป: ใช่ เออ หรือเป็นเพราะเราโกรธกันไม่พอล่ะ หรือเสียงเราดังไม่พอจะบอกส่วนกลางว่ายังมีประชาชนต้องการให้ชุมชนมีพื้นที่ดีๆ อย่างโรงหนังอยู่ (นิ่งคิด) ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่บางช่วงในสารคดีเราเลือกใส่เรื่องการเมืองอย่างม็อบลงไปก็ได้นะ
ใส่ลงไปด้วยความตั้งใจแบบไหน
แก๊ป: คือโดยส่วนตัวเราว่านอกจากสถานที่จะทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว สถานที่ยังสามารถบอกเล่าบริบทและความทรงจำรอบๆ ได้ ดังนั้นพอม็อบเกิดขึ้นช่วงที่เราถ่าย ถึงแม้ดูเผินๆ จะไม่เกี่ยวกับสกาลา แต่ถ้าเรามองเห็นความซ้อนทับกันของปัญหาจากส่วนกลาง เราก็อยากให้คนที่มาดูได้รู้ว่าระหว่างที่ภาพทุกอย่างในหนังเกิดขึ้น สังคมรอบๆ กำลังอยู่ในปัญหาแบบไหน สุดท้ายเราจึงใส่เสียงการชุมนุมที่แยกปทุมวันที่ลอยมาถึงสกาลา กลายเป็นพื้นที่ว่างให้คนตีความไปถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับสกาลาน่ะ
ดูเหมือนคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เห็นสิ่งนั้นอยู่เหมือนกัน เพราะอย่างกรณีสกาลา หลายคนไม่ทันยุครุ่งเรืองของมันแน่ๆ แต่ก็ออกมาเรียกร้อง เพราะพวกเขาเห็นปัญหาที่มากกว่าการทุบโรงหนัง
แก๊ป: ใช่ บางคนอาจแค่เคยเดินผ่านโดยไม่รู้ว่าที่นี่เป็นอะไรด้วยซ้ำ
โต้ง: และพอมาคิดดูก็ยิ่งน่าเสียดายเลยเนอะ เพราะจากการพูดถึงตรงนั้น เราเห็นได้ชัดเลยว่าคนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มรู้จักสกาลาจากกระแสนี้ แต่กลายเป็นว่า ปัจจุบันถึงพวกเขาจะอยากมาเห็นหรืออุดหนุนขนาดไหน สกาลาก็ไม่อยู่แล้ว มันสายไปแล้ว
ซึ่งถ้าลองคิดเล่นๆ ว่าแทนที่จะถูกทุบทิ้ง สมมติสกาลาได้รับการอนุรักษ์ขึ้นมา หรือรักษาไว้ในฐานะตัวแทนของอะไรบางอย่างในประวัติศาสตร์ ผมว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้น่าจะได้ไปดูหนังที่สกาลากันแล้ว
เพราะสำหรับเรา สถานที่แห่งนี้มีคุณค่าในตัวเองมากพอที่จะมีชีวิตต่อไปครับ