“ถ้าพี่ต้องเสียสละให้น้อง แปลว่าทรัพยากรมีจำกัด มันแชร์กันได้ ” คุยกับ ‘เป๋ง ชานนท์ – ปกป้อง ชานันท์’ คู่พี่น้องที่ไม่เคยตีตราว่าใครควรมีบทบาทอะไร แค่ขอให้ “เป็นตัวของตัวเอง”

- Year: 2022
- Project: “ถ้าพี่ต้องเสียสละให้น้อง แปลว่าทรัพยากรมีจำกัด มันแชร์กันได้ ” คุยกับ ‘เป๋ง ชานนท์ – ปกป้อง ชานันท์’ คู่พี่น้องที่ไม่เคยตีตราว่าใครควรมีบทบาทอะไร แค่ขอให้ “เป็นตัวของตัวเอง”
- Business Unit: Content
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี หากใครมีพี่ มีน้อง เชื่อเถอะคงเคยได้ยินประโยคที่พ่อแม่มักพร่ำสอน หรือปลูกฝังมาตลอดว่า “คนเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องเสมอ เป็นน้องก็ต้องเชื่อฟังพี่ทุกอย่าง” ซึ่งถือเป็นมายาคติการกดพี่ทับน้อง ที่หลายคนแบกรับเอาไว้ จนกลายเป็นบาดแผลในจิตใจโดยไม่รู้ตัว
เย็นวันหนึ่งยามฝนพรำ เราจึงชวน ‘เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์’ ผู้อยู่เบื้องหลังวงการเพลงในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ชื่อดังที่ร่วมงานกับศิลปินระดับประเทศ กับ ‘ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์’ นักวิชาการ นักเขียน ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศของพรรคเพื่อไทย คู่พี่น้องที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อรู้จักแล้วแทบไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย ทั้งเรื่องนิสัย ไลฟ์สไตล์ ความสนใจ ความชื่นชอบ แม้กระทั่งเพศวิถี
มาร่วมพูดคุยถึงความสัมพันธ์พี่น้องที่ ‘เลือก’ และ ‘เลิก’ ไม่ได้ พร้อมกับถ่ายทอดมุมมองของคนเกิดก่อน เกิดหลังที่ส่งผลต่อตัวตน ตลอดจนตั้งคำถามถึงความเป็น ‘พี่ที่ดี-น้องที่ดี’ มีอยู่จริงไหม
คิดว่าเป็นพี่น้องที่สนิทกันมากน้อยแค่ไหน
ปกป้อง: ก็สนิทนะ แต่เป็นตอนประถม อยู่กันสองคน เล่นกันสองคน พอมามัธยมเริ่มประกอบสร้างตัวตนกัน พี่เป๋งก็จะมีความชอบแบบหนึ่ง ทั้งเพื่อน สังคม แวดวงต่างๆ ของเขา เราเองก็อยู่อีกสังคมหนึ่ง มีความชอบที่ไม่เหมือนกัน มันเป็นคนละแนว เราก็เลยไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกัน จนกระทั่งตอนมหาวิทยาลัย ได้ทำงานแล้วเราก็รู้จักใช้เหตุผล เริ่มเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น
เป๋ง: เด็กๆ เราตีกันบ่อย เพราะด้วยช่วงสังคมยุคนั้นเรื่องความรู้ ความเข้าใจในความแตกต่างมันน้อย บริบทสังคมยุคนั้นไม่ค่อยยอมรับความแตกต่าง ซึ่งพวกเราก็ต่างกันมาก แล้วพอทะเลาะกันเรื่องหนึ่ง แล้วไม่รู้จะบ่นอะไร เลยพยายามหาปมด้อยของแต่ละคนมาด่ากันเพื่อเอาชนะ
พี่น้องส่วนใหญ่มักถูกเปรียบเทียบกัน แล้วคู่เราเคยไหม
ปกป้อง: อุ้ย! บ่อย ตอนเด็กๆ พ่อแม่จะเปรียบเทียบกันเป็นธรรมดา ใครฉลาดกว่า ใครเรียนเก่งกว่า แต่ตอนเด็กเราไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะโตมาก็เรียนคนละโรงเรียน แล้วจะให้เปรียบเทียบยังไง เพราะมาตรฐานโรงเรียนมันไม่เหมือนกัน เราก็เลยเฉยๆ
นิสัยอะไรของตัวเองกับอีกฝ่ายที่เหมือน หรือต่างกัน
เป๋ง: เราเป็นคนอารมณ์เย็นมาก เย็นจนเฉื่อย แต่ป้องอารมณ์ร้อนมาก เป็นคนไม่ยอมคน แต่จะมีเหตุผล เราเคยโดนคนขับวินมอเตอร์ไซต์แถวบ้านไถเงิน แล้วเราก็ให้ไป 200 บาท เพราะรู้สึกว่ากลัวจะมีปัญหาไปถึงแม่กับน้อง สักพักป้องเดินเข้ามาบอกอย่าให้มันดิ ยังจะให้มันอีก จะให้มันทำไม (นิ่งคิดสักพัก) เอางี้ก่อน มีตรงไหนเหมือนกันบ้างดีกว่า
ปกป้อง: มันก็คงมีอะไรเหมือนกันบ้างที่เราไม่รู้ตัว ถ้าให้คิดเร็วๆ ตอนนี้ คิดว่าเราเหมือนกันตรง การมีจุดยืนเป็นของตัวเองแล้วแน่วแน่กับมัน เชื่อในสิ่งที่เราเป็น และเชื่อในสิ่งที่เราทำ
เป๋ง: เราว่าที่เราสองคนเป็นแบบนี้ เป็นเพราะมาจากที่บ้าน เราสองคนจะเป็นคนที่ต่อต้านทุกอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น ทุกอย่างที่พ่อแม่สอน หรือว่าสั่งอะไร หมายถึงถ้าบังคับให้เราเรียนแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ จะทำอีกแบบ ต่อจะให้เป็นสิ่งที่เราอยากทำ แต่ถ้าพ่อแม่สั่งเราก็จะไม่ทำ เป็นนิสัยอยากเอาชนะ
พอเป็นพี่น้องที่แตกต่างกันมาก ครอบครัวให้การดูแลต่างกันด้วยหรือเปล่า
เป๋ง: นี่ก็คิดว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของเขา ที่มีลูกที่ไปคนละทางกันจะใช้วิธีคิดแบบเดียวกันในการดูแลไม่ได้ เออ! ป้องเคยบอกว่าแม่รักพี่มากกว่าปะ
ปกป้อง: เปล่า พี่เป็นคนพูด
เป๋ง: พี่เป็นคนพูดหรอ อ๋อ! เรารู้สึกว่า แม่ให้ความดูแลเรามากกว่าป้อง ยิ่งในช่วงอายุ 15 แม่นี่คือดูแลเราหนักเลย เพราะเราชอบเกเร โดนเรียกผู้ปกครองบ่อยจนแบบจะโดนไล่ออก แต่แม่ก็ยังส่งเรียนจนจบมหาวิทยาลัย มันก็เลยทำให้เรารู้สึกโดนดูแลจากที่บ้านมากกว่าป้อง ด้วยที่บ้านเขาเชื่อใจว่าป้องดูแลตัวเองได้
ปกป้อง: พี่เป๋งเป็นคนเกเร แล้วอะไรที่พี่เป๋งทำ เราก็เลยแบบไม่ทำดีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ามันดีไม่ดี แต่เรารู้ว่าอะไรที่ทำแล้วอาจจะเกิดปัญหา เราก็ไม่ทำ เพราะไม่อยากทำให้ที่บ้านมีปัญหาอีก
ครอบครัวมีการสั่งสอนว่าคนเป็นพี่ควรทำแบบนี้ น้องควรทำแบบนั้นไหม
เป๋ง: ไม่ได้มีแบบ 100 เปอร์เซนต์ว่านี่เป็นพี่ นี่เป็นน้อง เขาขอแค่เราเอาตัวรอดให้ได้ก็พอแล้ว เราว่ามันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้ว่าต้องเป็นหน้าที่ของพี่ที่ต้องทำ หรือหน้าที่ของน้องที่ต้องทำ แต่เป็นความที่ครอบครัวต้องทำ
ปกป้อง: มีบ้าง แต่มันไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สุดท้ายก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นคำสอนอย่างหนึ่ง อยู่ที่เราจะเชื่อฟังไหม
พี่รู้ว่าน้องมีตัวตน หรือเพศวิถีชายรักชายได้อย่างไร
ปกป้อง: เขาก็มีความระแคะระคาย ความสงสัยอะไรมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว คืออยู่บ้านเดียวกันมันก็รู้ว่าเราชอบเพศเดียวกัน ทั้งบุคลิก อัตลักษณ์ การจัดการ การแสดงออกก็ต้องมีอยู่แล้ว พอได้เปิดเผยเรื่องนี้มันก็ปลดล็อกอะไรสักอย่างตามมา
เป๋ง: จะบอกว่าตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘เกย์’ ด้วยซ้ำ คิดว่าเออน้องเราเป็นตุ๊ด และตอนนั้นเราเป็นเด็กเกเรก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเพื่อนเห็น เพื่อนจะล้อหรือเปล่าวะ แต่จริงๆ แล้วไม่มีหรอก คือเราคิดไปเองทุกอย่าง กลัวสังคมจะมองยังไง กลัวว่าคนจะล้อน้องเรา เอาจริงๆ สิ่งที่เรากลัวไม่ใช่ว่าเขาล้อน้องแล้วเราจะอาย แต่เรากลัวว่าน้องโดนล้อแล้วน้องจะรับไม่ได้
แล้วน้องเคยมีมุมมองแย่ต่อพี่ที่เกเร ก้าวร้าวบ้างไหม
ปกป้อง: จริงๆ เรื่องก้าวร้าวก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้วเนาะ (หัวเราะ) เราจะตั้งคำถามมากกว่าว่าทำไมผู้ชายต้องเป็นแบบนี้หรอ ความเป็นชายต้องเป็นแบบนี้หรอ ซึ่งส่วนหนึ่งเราไม่ได้รีเลทกับความเป็นชายในรูปแบบนั้น พฤติกรรมของเขา ของเราไม่เหมือนกัน ก็กลายเป็นว่าเรามองความเป็นชายในอีกรูปแบบหนึ่ง มันส่งผลกับเราตรงที่ถ้าอยากมีแฟน เราจะเลือกผู้ชายที่คอยดูแลปกป้องเราได้เหมือนกับพี่ชาย ฟังดูดีป่ะ (หันไปถามเป๋ง) เพราะมันทำให้เราอุ่นใจ
งั้นลองบอกสิ่งที่มองเห็น-สิ่งที่เรียนรู้กันและกัน มาตั้งแต่เด็กจนโต
ปกป้อง: เรามองเขาเป็นพี่ใหญ่ มองตัวเองเป็นน้องเล็ก ต่อให้ช่วงหนึ่งรู้สึกโกรธ หรือโมโห แต่ก็ยังมองเขาเป็นพี่ เหมือนเราฝังรากลึกในความรู้สึกจนนิยามตัวตนไปแล้วว่าเป็นน้อง มันหล่อหลอมมาถึงปัจจุบันด้วยว่าใครที่เรารัก เคารพจะมองคนเหล่านั้นเป็นพี่เสมอ แต่บางทีก็ไม่ดีนะ เพราะทำให้เราไม่โตไปด้วย
“ได้เรียนรู้อีกโลกที่ไม่ได้ชอบ หรือมีความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นวงการเพลง วงการศิลปิน หรือว่าโลกซ่าๆ ของเขา มันเลยเหมือนเป็นการเปิดโลกใบใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน”
เป๋ง: ส่วนเราเคยมองน้องว่ายังเป็นเด็กตลอดเวลา แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้มองเป็นเด็กแล้วนะ แค่ตอนนั้นมันเป็นความเคยชิน เราเรียนรู้เรื่องเพศก่อนเลย เพราะเราไม่เข้าใจว่าชายรักชายรักกันได้ยังไง ซึ่งสมัยที่สงสัยคือย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ก็ถามป้องว่าชายรักชายรักกันได้ยังไง ป้องไปชอบผู้ชายได้ยังไง แล้วป้องก็อธิบายว่ามันมาจากความรู้สึกข้างในนะ
คิดว่าการเกิดก่อน-เกิดหลังมันส่งผลต่อนิสัยตัวตนเราแค่ไหน
เป๋ง: ป้องเป็นเด็กที่เกิดทีหลังแต่ไม่ใช่เด็กที่ต้องให้คนมาดูแล แต่ของเราตอบไม่ได้น่ะ
ปกป้อง: พี่เป๋งมีความเป็นผู้นำสูง แต่อาจจะไม่รู้ตัวไง แบบกล้าเผชิญหน้ากับอะไรก็ได้
ส่วนเราเพิ่งมาตระหนักได้ช่วงทำงานว่าสภาวะการจัดการแก้ไขปัญหา ความรับผิดชอบอะไรแบบนี้เราทำได้หมด แต่บุคลิกจะวางตัวเหมือนน้องเสมอ ชินกับการมีพี่เป๋ง ทุกคนก็จะเป็นพี่หมดเลย
เป๋ง: ตอนที่ป้องบอกว่าเรามีความเป็นผู้นำ เรายังตกใจเลยนะ เหมือนแบบว่าคนในทีมที่อายุเยอะกว่าเรา บางทีก็เก่งกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เราก็ยังเป็นหัวหน้าทีม กลายเป็นว่าเออว่ะ! ความเป็นพี่เป็นน้องมันส่งผลกับตัวตนคนเราหรือเปล่าวะ นี่เป็นครั้งแรกที่เคยคิดอะไรแบบนี้ขึ้นมา (หัวเราะ)
มีมุมมองอย่างไรต่อตรรกะที่ว่า ‘พี่ต้องเสียสละให้น้อง’
ปกป้อง: ถ้าคนเป็นพี่ต้องเสียสละมันแปลว่าทรัพยากรมีจำกัด นี่คิดว่ามันแชร์กันได้ ปกติเวลามีคนซื้อของเล่นให้เราก็จะแบ่งกันเล่น พี่ต้องแบ่งน้อง น้องต้องแบ่งพี่นะ แต่ก็มีแย่งกันบ้าง แย่งดูทีวี แย่งนั่งหน้ารถก็เลยสลับกัน สุดท้ายก็จะมีการกระจายทรัพยากรตรงนั้นไป
แล้วถ้าเป็นตรรกะว่า ‘น้องต้องเชื่อฟังพี่’ ล่ะ
เป๋ง: เราว่าก็กลับไปที่ทุกคนก็โตมาคนละแบบ มันเกิดจากพ่อแม่เลี้ยงเราให้อยู่ในระบบจนชิน ต้องเล่าก่อนว่าอย่างครอบครัวเรามันจะเป็นสองฟาก คือฝั่งคุณพ่อกับฝั่งคุณแม่ ฝั่งพ่อจะเป็นแบบระบบสังคมราชการที่แบบพี่ต้องดูแลน้อง แล้วทุกคนต้องแบบอยู่ใต้พ่อ ส่วนฝั่งแม่ก็จะมีความกบฎบางอย่าง ทำให้มีแค่พ่อที่ไม่ชอบพวกวิธีการ เป็นระบบเป๊ะ แบบมานีมานะเลย
คำว่า ‘พี่ที่ดี’ ‘น้องที่ดี’ คิดว่ามันมีอยู่จริงไหม
เป๋ง: มีนะ แต่คงไม่มีคำจำกัดความ เราว่าแค่ความเหมาะสมหรือเปล่า ส่วนตัวมองว่าแค่ไม่ทำร้ายกัน อย่างเราเคยเห็นพี่น้องที่โกงกินกัน เกลียดกัน อย่างนั้นคิดว่าไม่ใช่พี่น้องที่ดี ถ้าไม่ทำร้ายกันก็ถือว่าโอเคแล้วนะ
ปกป้อง: พี่น้องกันมันควรจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะเรารักเขา เราอยู่บ้านเดียวกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน แต่สำหรับคำว่าดีที่ว่ามันคือดียังไง
แล้วสำหรับเราในสถานะตอนนี้คิดว่าพี่ที่ดี-น้องที่ดีแล้วหรือยัง
เป๋ง: เราว่าดีที่สุดแล้ว อาจจะไม่ได้สุดยอดอะไรขนาดนั้น
ปกป้อง: เราก็ไม่ได้คิดว่าสถานะพี่น้อง มันเป็นหน้าที่บางอย่างที่เราต้องแบกรับเพื่อทำตรงนั้น แต่ว่าทำไปโดยธรรมชาติ ทำไปโดยอัตโนมัติของเรา ไม่ได้กำหนดว่าตรงนั้นเป็นหน้าที่ที่ต้องทำนะ
มีคิดบ้างไหมอยากเกิดเป็นลูกคนเดียว
ปกป้อง: เพราะตอนนี้เรารู้ว่าเรามีพี่ เราก็จะไม่ได้คิดว่าเป็นลูกคนเดียวดีกว่า
เป๋ง: เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเป็นลูกคนเดียวมันเป็นยังไงด้วย มันไม่มีภาพในหัว ไม่มีจินตนาการ
อยากให้ลองนิยามการแสดงความรักของพี่น้องคู่เรา
ปกป้อง: มันไม่เหมือนครอบครัวในซิตฯ คอมฯ ที่ต้องรักกันขนาดนั้น หรือไม่เหมือนในเพลง พี่ชายที่แสนดี แต่ถ้าถามว่าเรารักกันไหม เรารักกันแหละ แต่ไม่ได้แสดงออกเลย
เป๋ง: ถ้าถามว่าเป็นห่วงไหม ก็เป็นห่วง คือเห็นข่าวที่ป้องได้รับตำแหน่งอะไรแบบนี้ก็ดีใจ เราก็อยากจะบอกให้ทุกคนรู้ว่านี่น้องของเรา เวลามีใครพูดถึงน้องเรา เราก็ภูมิใจ
แล้วถ้าให้มองย้อนกลับไป มีอะไรที่รู้สึกผิดแล้วอยากแก้ไข
ปกป้อง: เราก็ยังมีเรื่องที่เราทำผิด ทำไม่ถูกต้องกับเขา แต่เราไม่ได้คิดเสียใจ มันเป็นเรื่องปกติที่ต่างคนต่างก็ปฏิบัติต่อกันเช่นนั้น สุดท้ายมันหล่อหลอมเป็นประสบการณ์ ทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่าง
เป๋ง: ไม่มีเลย ไม่เคยเป็นคนคิดว่าอยากจะแก้ไขอะไรในอดีต
เรารู้สึกมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งขององค์ประกอบที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น เราไม่ได้อยากแก้ไขอดีต
สมมติถ้าให้พี่ไปเป็นน้อง แล้วน้องไปเป็นพี่ คิดว่าได้ไหม
เป๋ง: อย่าเลย (หัวเราะ) เรานึกไม่ออกว่าถ้าเป็นน้องจะเป็นยังไง แต่ว่าคงเละใช่ได้ ถ้ายังเป็นนิสัยอย่างนี้อยู่ ทุกวันนี้มันก็ดีที่สุดแล้ว
ปกป้อง: เราชอบเป็นตัวของตัวเองแบบนี้มากกว่า